นักวิชาการชี้ 'ช้อปดีมีคืน' ดีกว่า ‘ยิ่งใช้ยิ่งได้' ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 4 แสนล้านบาท
นักวิชาการ “นิด้า”แนะรัฐฟื้น “ช้อปดีมีคืน” กระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่ายิ่งใช้ยิ่งได้ ตอบโจทย์-จูงใจกลุ่มมีรายได้สูง 3 ล้านคนให้ใช้จ่ายได้ เกิดเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 4 แสนล้านบาท รัฐเก็บภาษีได้ 2 หมื่นล้านบาท
นโยบาย "ยิ่งใช้ยิ่งได้" ที่รัฐบาลออกมาเพื่อจูงใจให้ประชาชนที่มีรายได้สูงและมีเงินออมประมาณ 3 - 4 ล้านคนใช้จ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการที่ใช้จ่ายสินค้า ค่าอาหาร และเครื่องดื่มและค่าบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยกำหนดให้ใช้จ่ายได้สูงสุดวันละ 5,000 บาท ในช่วงเดือน กรกฏาคม-กันยายน 2564 และภาครัฐจะจ่ายเงินเป็นอี-วอยเชอร์(E-Voucher)ให้กับประชาชน ไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โดยกำหนดใช้เพื่อไปใช้จ่ายในเดือน สิงหาคม-ธันวาคม 2564 มีเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการ 4 ล้านคนใช้วงเงินจากเงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาทวงเงิน 2.8 หมื่นล้านบาทมากระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนในโครงการนี้
นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่าโครงการดังกล่าวอาจไม่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการให้มาใช้จ่ายเห็นได้จากยอดลงทะเบียนที่ผ่านไปหลายวันมีผู้มาลงทะเบียนเพียง 5 แสนสิทธิ์จากทั้งหมดที่กำหนดไว้ 4 ล้านสิทธิ์เท่านั้น
ซึ่งโครงการนี้ภาครัฐออกแบบไว้ว่าต้องการให้ผู้มีรายได้สูงหรือผู้ที่มีเงินออมซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่มากนักมาเข้าโครงการนี้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 3-4 ล้านคน ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงและเป็นกลุ่มที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับภาครัฐ ซึ่งมีความต้องการที่จะลดหย่อนภาษีซึ่งในปีก่อนๆโครงการที่กระตุ้นการใช้จ่ายโดยการให้ลดหย่อนภาษีได้ เช่น โครงการช้อปดีมีคืนจึงได้รับความสนใจมีคนเข้าร่วมจำนวนมากต่างกับโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ที่ยังไม่มีคนสนใจเข้าร่วมมากนัก
นอกจากนี้การออกแบบโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ที่ต้องมีการลงทะเบียน และให้มีการใช้จ่ายเงินคืนมาในระบบเป๋าตังค์แล้วให้ไปใช้จ่ายในร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งนั้นอาจไม่ตรงกับวิถีชีวิตของคนที่อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูง หรือเป็นกลุ่มที่เป็นผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ทำให้เขาไม่สนใจที่จะเข้าร่วมโครงการมากเท่ากับโครงการที่ให้ใช้จ่ายแล้วนำไปลดหย่อนภาษีได้
นายมนตรีกล่าวว่าหากรัฐบาลทบทวนมาตรการแล้วเปลี่ยนจากโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้เป็นโครงการในลักษณะเดียวกับช็อปดีมีคืนจะมีคนเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 3 - 4 ล้านคน ช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้มากกว่า 4 แสนล้านบาท ภาครัฐจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท
นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มการจ้างงาน ช่วยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้โดยเร็วภายในปีนี้ ส่วนการคืนภาษีให้กับประชาชนที่เข้าร่วมโครงการจะเป็นการคืนให้ในช่วงเดือน มี.ค. - มิ.ย.ในปีหน้าที่ประชาชนยืื่นขอคืนภาษีซึ่งกว่าจะถึงเวลาคืนภาษีเศรษฐกิจก็มีความกระเตื้องขึ้นแล้ว
“การให้ประชาชนใช้จ่ายโดยขอคืนภาษีได้เหมือนกับโครงการช้อปดีมีคืนที่ทำมาในปีที่แล้วมีข้อดีเพราะหากประชาชนในกลุ่มเป้าหมายใช้จ่ายคนละ 60,000 - 70,000 บาท ก็จะมีเงินหมุนเวียนประมาณ 2 แสนล้านบาท และการหมุนของเงินจากการใช้จ่ายที่หมุนในระบบเศรษฐกิจได้ 2 รอบจะทำให้เงินหมุนเวียนเพิ่มเป็น 4 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ยังช่วยสร้างการจ้างงาน ความคึกคักในภาคการผลิต ส่วนการคืนภาษีจะคืนในปีหน้าแต่การกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นทำได้ในปีนี้แล้ว วิธีแบบนี้จึงดีกว่าการใช้เงินกู้มาเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายแบบอีวอยเชอร์ในโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ที่ไม่จูงใจให้คนเข้าโครงการมากนัก”นายมนตรี กล่าว