เปิดรายงาน 'แอมเนสตี้' ชี้ ตร.ใช้ความรุนแรงเกินเหตุ ปราบ 'ม็อบ' ชุมนุมโดยสงบ
"แอมเนสตี้" เปิดตัวรายงานชี้ตำรวจใช้ความรุนแรงเกินเหตุ ปราบปรามม็อบชุมนุมโดยสงบ จี้ยกเลิกตั้งข้อหา-ยุติพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดรายงานวิจัยล่าชุดชื่อ “หน้าแสบร้อนเหมือนโดนไฟไหม้” (My face burned as if on fire) ระบุทางการไทยมักใช้ยุทธวิธีที่รุนแรงและเกินขอบเขตอยู่เสมอ เพื่อปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชนซึ่งขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในประเทศ รวมทั้งการทุบตีผู้ชุมนุม การฉีดน้ำแรงดันสูงที่ผสมสารเคมี และการยิงกระสุนยางในระยะประชิด โดยรายงานฉบับนี้ได้บันทึกข้อมูลอย่างละเอียด และการวิเคราะห์การชุมนุมที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา เผยให้เห็นภาพอย่างละเอียดของการใช้กำลังจนเกินขอบเขตมิชอบด้วยกฎหมายต่อผู้ชุมนุมโดยสงบ
ทั้งนี้ รายงานของแอมเนสตี้เป็นผลจากการทำงานของผู้สังเกตการณ์ภาคสนาม ซึ่งได้สัมภาษณ์ผู้เสียหายและประจักษ์พยานหลายสิบคน ฝ่ายพิสูจน์หลักฐานในภาวะวิกฤตระหว่างประเทศของแอมเนสตี้ ยังได้ตรวจสอบวิดีโอ 87 ชิ้นที่เผยให้เห็นภาพการใช้ความรุนแรงของตำรวจ
เอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ผู้ที่อยู่ในพื้นที่การชุมนุมและผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ไม่ได้มีพฤติการณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือพฤติกรรมที่รุนแรง แต่พวกเขากลับต้องถูกกระทำด้วยความรุนแรงอย่างเจ็บปวดจากการใช้กำลังของตำรวจ มีการทุบตีประชาชน การยิงด้วยกระสุนยางและแก๊สน้ำตา ทั้งหมดเพียงเพราะพวกเขากล้าที่จะรวมตัวและแสดงออกโดยสงบ ในขณะที่การชุมนุมขยายตัวเพิ่มขึ้นตลอดทั้งปี ทางการไทยไม่ได้ดำเนินการเพื่อลดความตึงเครียดของสถานการณ์ที่อ่อนไหว ทั้งยังทำให้ชีวิตของบุคคลจำนวนมากเสียงอันตรายรวมทั้งเด็ก
คำในการของพยานจำนวนมากในรายงานฉบับนี้ เน้นให้เห็นการใช้สารเคมีที่สร้างความระคายเคืองจนเกินขอบเขตต่อประชาชนรวมทั้งการใช้แก๊สน้ำตาและการฉีดน้ำแรงดันสูง ผู้เสียหายระบุว่าได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งแผลไหม้ที่รุนแรงและเลือดไหลออกทางจมูกประจักษ์พยาน และผู้เสียหายยังระบุถึงหลายเหตุการณ์ของการควบคุมฝูงชนที่มีความอันตราย ตั้งแต่การเล็งเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ศีรษะของประชาชน ไปจนถึงการยิงกระสุนยางอย่างไม่เลือกเป้าหมายใส่ฝูงชน
ที่เปิดเผยในวันนี้ ทางการไทยมักใช้ยุทธวิธีที่รุนแรงและเกินขอบเขตอยู่เสมอ เพื่อปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชนซึ่งขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในประเทศ รวมทั้งการทุบตีผู้ชุมนุม การฉีดน้ำแรงดันสูงที่ผสมสารเคมี และการยิงกระสุนยางในระยะประชิด
ด้านน.ส.ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า รายงานฉบับนี้พร้อมทั้งข้อเสนอแนะและข้อเรียกร้องจากแอมเนสตี้จะถูกส่งต่อให้กับทางการไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจคุ้มครองสิทธิของผู้ชุมนุมโดยสงบทุกคน และอำนวยความสะดวกให้พวกเขาได้ใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและการแสดงออกอย่างเต็มที่ ทางองค์กรยังกระตุ้นให้ตำรวจเน้นการใช้วิธีการที่ไม่รุนแรง รวมทั้งการเจรจา การไกล่เกลี่ยและการพูดคุย เพื่อลดความตึงเครียดของสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง
แอมเนสตี้ยังขอกระตุ้นทางการไทยให้ยกเลิกข้อหาทั้งหมดที่มีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรม ที่ตกเป็นเป้าหมายเนื่องจากการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ กฎหมายที่สร้างปัญหารวมทั้งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ และพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินต้องถูกยกเลิก และต้องเปลี่ยนมาใช้มาตรการที่มีข้อจำกัดน้อยกว่าและสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ และแสดงความเห็นโดยไม่ต้องถูกดำเนินคดี
“ทางการไทยกำลังใช้ความรุนแรงและการคุกคามด้วยกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อปราบปรามความไม่พอใจที่เกิดขึ้นทั้งประเทศการใช้ยุทธวิธีสร้างความหวาดกลัวเหล่านี้ มีแต่จะเน้นให้เห็นถึงความทุกข์ยากจำนวนมากที่เกิดขึ้นกับผู้ชุมนุม และยิ่งกระตุ้นให้เกิดการชุมนุมมากขึ้น ถึงเวลาต้องใช้แนวทางใหม่ เป็นแนวทางที่ยอมรับว่าการชุมนุมส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นไปโดยสงบ และเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออก สุดท้ายแล้วการเคลื่อนไหวของเยาวชนเป็นการเรียกร้องให้มีการเจรจา ทางการไม่ควรตอบโต้ด้วยไม้กระบอง เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง สารเคมี และการตั้งข้อหาที่ปราศจากมูลความจริง” น.ส.ปิยนุชกล่าว
นอกจากนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังปล่อยแคมเปญ RUBBER DUCKS, NOT RUBBER BULLETS ในโซเชียลมีเดียทุกช่องทางไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ไอจี ทวิตเตอร์ โดยเชิญสมาชิกและผู้สนับสนุนทั่วโลกเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ที่มีข้อความ “RUBBER DUCKS, NOT RUBBER BULLETS” พร้อมติด #เป็ดยางไม่ใช่กระสุนยาง เพื่อแสดงออกถึงการยืนหยัดเคียงข้างเยาวชนที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนมโดยสงบในประเทศไทย โดยแคมเปญดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564-มีนาคม 2565