กฟผ.ลุยพลังงานกรีน โซลาร์ฟาร์ม 'แม่เมาะ'
กฟผ.เสนอโปรเจคไฟฟ้าสีเขียว นำพื้นที่เหมืองแม่เมาะ 500 ไร่ พัฒนาโซลาร์ฟาร์ม กำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ ปั่นไฟใช้ในเหมือง
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.จะมุ่งที่พลังงานสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามทิศทางของโลกที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ทั้งนี้ กฟผ.จะพัฒนาพื้นที่เหมืองถ่านหินแม่แมะ 500 ไร่ ติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ขนาดกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในกิจการเหมือง ซึ่งปัจจุบันการทำเหมืองต้องใช้ไฟฟ้าในการขุดดินและถ่านหิน เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
“โซลาร์ฟาร์มแม่เมาะทำได้เลย เพราะมีพื้นที่อยู่แล้วแค่ถมดินก็ดำเนินการได้ แต่ต้องขออนุญาตกระทรวงพลังงาน ซึ่งจะได้รับการอนุมัติเพราะเป็นโปรเจคที่ดี และโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มแม่เมาะ เป็นการใช้ภายในกิจการเหมืองไม่ได้ขายไฟเข้าระบบและไม่ได้อยู่ในแผน PDP โดยหากได้รับการอนุมัติก็เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นานในการพัฒนาโครงการและเป็นการลงทุนเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ”
ส่วนระยะยาวเมื่อเหมืองแม่เหมาะหยุดทำการขุดถ่านหรือถ่านหินหมดลงตามอายุของโรงไฟฟ้าแม่เหมาะ ซึ่งน่าจะใช้เวลาร่วม 30 ปีขึ้นไปจะมีแผนพัฒนาเหมืองแม่เมาะเป็นโครงกาเมืองอัจฉริยะ หรือ “แม่เมาะสมาร์ทซิตี้” เป็นเมืองต้นแบบใช้พลังงานหมุนเวียน จะมีทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม และโรงไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาด
รวมถึงจะมีโรงไฟฟ้าแบบสูบกลับด้วย เพราะการขุดถ่านหินในปัจจุบัน ต้องขุดลงไปลึกตั้งแต่ 500 เมตร ถึง 1 กิโลเมตร ทำให้พื้นที่ด้านล่างของเหมืองมีน้ำ ดังนั้นทำให้พื้นที่ข้างบนกลายเป็นแอ่งน้ำเหมือนเขื่อนลำตะคองที่เป็นโรงไฟฟ้าแบบสูบกลับจะใช้เป็นแบตเตอรี่ก้อนใหญ่ได้ และรองรับกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ในอนาคตมีแนวโน้มจะส่งขายไฟฟ้าผ่านระบบหลักมากขึ้น จะมีโรงไฟฟ้าแบบสูบกลับมาทำหน้าที่เป็นแบตเตอรี่สร้างเสถียรภาพให้ระบบไฟฟ้าหลักได้
นายบุญญนิตย์ กล่าวว่า กฟผ.มีโครงการศึกษานำเอาพืชเกษตรในภาคเหนือมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงอัดเม็ดป้อนเป็นเชื้อเพลิงเผาพร้อมถ่านหิน ซึ่งจะช่วยลดการเผาถ่าน ลดการเผาป่า และลดการเผาพืชผลทางการเกษตรที่เป็นหนึ่งในสาเหตุมลพิษทางอากาศ หรือ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ไมครอน และโครงการนี้เป็นการรับซื้อพืชเกษตร ซึ่งจะทำให้เกิดรายได้มากขึ้น โดยปัจจุบัน อยู่ในกระบวนการเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการเผาชีวมวลอัดเม็ด และกำลังจัดซื้อเครื่องจักรเข้ามาติดตั้ง คาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ภายในปีนี้