เปิดคู่ชิง ‘ผบ.ทร.’ ดวงพุ่ง เกิด ‘วัน-เดือน-ปี’ เดียวกัน
เมื่อเก้าอี้ 'ผบ.ทร.' มีเพียงตัวเดียว จึงได้เห็นการขับเคี่ยวกัน 'แคนดิแดต' โดย 'ลูกประดู่' แนะจับตา 'สองตัวเต็ง' ที่มีคะแนนเบียดกันสุดๆ
เป็นอีกหนึ่ง ‘เหล่าทัพ’ ที่น่าจับตา สำหรับการปรับย้ายนายทหารชั้นนายพลปี 2564 ในส่วนของกองทัพเรือ(ทร.) ว่าใครจะได้ครองเก้าอี้ ‘ผบ.ทร.’ ต่อจาก พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการวันที่ 30 กันยายน 2564 นี้
แม้ปีนี้จะมีชื่อ ‘แคนดิเดต’ ให้ได้ลุ้นกันถึง 3+1 ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และเป็นคนทำงานด้วยกันทั้งหมด ประกอบด้วย คนในกองทัพเรือ 3 นาย 1.พล.ร.อ.ทรงวุฒิ บุญอินทร์ ผู้ช่วย ผบ.ทร. 2.พล.ร.อ. ธีรกุล กาญจนะ เสนาธิการทหารเรือ 3.พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ และ ทหารเรือนอกกองทัพเรืออีก 1 นาย คือ พล.ร.อ. สมประสงค์ นิลสมัย รองปลัดกลาโหม ที่ร่ำลือกันว่าอาจเป็น ‘ตาอยู่’ ถูกโยกกลับมาคว้าเก้าอี้ ‘ผบ.ทร.’
แต่ที่แน่ๆ ‘ลูกประดู่’ ส่งซิกและฟันธงไว้ว่า คนที่ได้เป็น‘ ผบ.ทร.’ เป็น 1 ใน 2 แคนดิเดตนี้เท่านั้น ซึ่งเวลานี้คะแนนสูสีเบียดกันสุดๆ และที่สำคัญทั้งคู่ยังเกิด ‘วัน เดือน ปี’ เดียวกัน คือ 20 ธันวาคม 2505 ซึ่งเข้าวงโคจรดวงชะตาราศีธนูที่กำลังรุ่งโรจน์ อีกทั้งจะเกษียณอายุราชการพร้อมกันอีกในปี 2566
คนแรก พล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ เสนาธิการทหารเรือ เตรียมทหารรุ่น 21 (ตท.21) รุ่นเดียวกับ ‘บิ๊กแก้ว’ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) และ ‘น้องรัก’ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ อดีต ผบ.ทร.
หากยังจำกันได้ ‘พล.ร.อ. ธีรกุล’ เคยฝากฝีไม้ลายมือบนเวทีแถลงข่าว การจัดซื้อเรือดำน้ำ ลำที่ 2 และ 3 มูลค่า 22,500 ล้านบาท หลังถูกฝ่ายการเมืองโจมตีอย่างหนักเมื่อปี 2563 ซึ่งขณะนั้นอยู่ในตำแหน่ง ‘ปลัดบัญชีทหารเรือ’
ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ‘พล.ร.อ. ธีรกุล’ ได้รับมอบหมายปฏิบัติให้หน้าที่แทน ‘ผบ.ทร.’ อยู่บ่อยครั้ง ทั้งตรวจน้ำท่วมภาคใต้ การตั้งโรงพยาบาลสนามของกองทัพเรือสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 อีกทั้งยังนั่งเป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) รับผิดชอบภารกิจมากมาย
สำหรับประวัติการทำงาน ‘พล.ร.อ. ธีรกุล’เป็นทหารเรืออาวุธใต้น้ำ ต้นปืน ร.ล.สุครีพ และ ร.ล.หาญหักศัตรู ก่อนจะเป็น ผู้บังคับการเรือ “เรือ ต.15” และ “เรือ ต.97” และนายทหารฝ่ายกำลังพล กรมนักเรียน โรงเรียนเตรียมทหาร
จากนั้นเป็นหัวหน้าตอนปฏิบัติการทางทะเล ส่วนปฏิบัติการ สำนักงานคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคไทย - มาเลเซีย ศูนย์อำนวยการร่วม 104 กองบัญชาการทหารสูงสุด
เป็นรองผู้บังคับการกรมต่อสู้อากาศยานที่ 1 และรักษาราชการผู้บังคับกองพันต่อสู้อากาศยานที่ 12 กรมต่อสู้อากาศยานที่ 1 หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง รองเสนาธิการฐานทัพเรือพังงา นายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำรองผู้บัญชาการทหารเรือ
และเป็นผู้อำนวยการกองแผนและโครงการ กรมจเรทหารเรือ ผู้อำนวยการกองศึกษายุทธศาสตร์ ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง ผู้อำนวยการกองส่งกำลังบำรุง ทัพเรือภาคที่ 3 ผู้อำนวยการกองจัดการ กองพัฒนาระบบบริหาร และกองตรวจสอบและประเมินผล สำนักงานปลัดบัญชีทหารเรือ
หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กรมการขนส่งทหารเรือ รองผู้อำนวยการท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศจัดการทรัพยากร สำนักงานปลัดบัญชีทหารเรือ ,ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ สำนักงานปลัดบัญชีทหารเรือ รองปลัดบัญชีทหารเรือ รองเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ และปลัดบัญชีทหารเรือ
และที่มาแรงไม่แพ้กันคือ ผู้คุมกำลังรบทางเรือ ลำดับที่ 70 แห่งกองทัพเรือ พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เตรียมทหารรุ่น 22 (ตท.22) รุ่นเดียวกับ พล.อ.ณรงพันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ที่ผ่านการปฏิบัติงานในหน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือแบบไร้ที่ติ
‘พล.ร.อ.สุทธินันท์’ ถือเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญมาแล้วหลายตำแหน่ง ทั้งด้านการปกครองบังคับบัญชา และงานฝ่ายอำนวยการ เริ่มจากผู้บังคับการเรือหลวงกูด กองเรือยุทธบริการ กองเรือยุทธการ นายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้ช่วยเสนาธิการทหารเรือ ผู้บังคับกองพันรักษาฝั่งที่ 11 กรมรักษาฝั่งที่ 1 หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง
ผู้บังคับการกองขนส่งฐานทัพเรือสัตหีบ ผู้บังคับการกรมต่อสู้อากาศยานที่ 2 หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ผู้อำนวยการกองยุทธการ ทัพเรือภาคที่ 1 และเสนาธิการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง รองเสนาธิการทัพเรือภาคที่ 1
จากนั้นเป็นผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สำนักงานประสานภารกิจ ด้านความมั่นคงกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กองทัพเรือ เจ้ากรมการเงินทหารเรือ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ก่อนขึ้นดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ถือเป็น 5 เสือของกองทัพเรือ ที่มีบทบาทสำคัญด้านการคุมกำลังรบทางเรือ อาทิ เรือรบผิวน้ำ เรือดำน้ำ กำลังอากาศนาวี และกำลังรบพิเศษ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ
จึงต้องตามลุ้นกันว่า คนที่จะได้นั่งเก้าอี้ ‘ผบ.ทร.’ ซึ่งมีเพียงตัวเดียว จะเป็นผู้คุมกำลังรบทางเรือ ลำดับที่ 70 หรือเสนาธิการทหารเรือที่มีผลงานคับจอ คงได้รู้กันเดือนตุลาคมนี้