โควิดทุบความเชื่อมั่นนักลงทุนทรุด 'เฟทโก้' เชื่อไม่หลุด 1,500 จุด
“เฟทโก้” เผย ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้า (ก.ย.) ร่วง 16.1% มาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน เหตุโควิดลากยาว-สายพันธุ์ใหม่ระบาด กดหุ้นไทยไซด์เวย์ดาวน์ เชื่อไม่หลุด 1,500 จุด ลุ้นโค้งท้ายเปิดประเทศ ดึงฟันด์โฟลว์ไหลกลับ
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ก.ย.) อยู่ที่ระดับ 106.05 ปรับตัวลง 16.1% จากเดือนก่อน โดยเป็นการปรับตัวลงจากเกณฑ์ร้อนแรงมาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว ครั้งแรกในรอบ 8 เดือน จากปัจจัยการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ซึ่งลากยาวมากกว่าที่นักลงทุนคาดการณ์จากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนยังถูกกดดันจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าคาดการณ์ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นทันที ทำให้ความน่าสนใจของการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียลดลงในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศ และหุ้นไทยปรับขึ้นมามากแล้วทำให้มูลค่า (Valuation) เริ่มแพง ทั้งนี้ นักลงทุนยังคาดหวังปัจจัยบวกจากแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 การไหลเข้าของเงินทุน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
สำหรับในไตรมาส 3 ปี 2564 ตลาดหุ้นไทยยังถูกกดดันจากการระบาดของโควิด-19 จากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ระดับสูง และความเสี่ยงที่วัคซีนจะกระจายไม่ได้ตามแผนที่รัฐบาลวางเอาไว้ โดยคาดว่าดัชนีหุ้นไทยในไตรมาส 3 จะแกว่งตัวทิศทางขาลง แต่ไม่หลุด 1,500 จุด ดังนั้น ในช่วงที่ตลาดหุ้นยังถูกกดดันจากความไม่แน่นอนจึงแนะนำซื้อหุ้นในกลุ่มที่มีความทนทานปลอดภัย (Defensive) กลุ่มหุ้นที่มีปันผลสูง และกลุ่มหุ้นการณ์แพทย์ที่ได้ประโยชน์จากโควิด-19
อย่างไรก็ตาม ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มตลาดหุ้นไตรมาส 4 ปี 2564 เพราะคาดว่าจะได้แรงหนุนจากกระแสเงินลงทุน (ฟันด์โฟลว์) ของนักลงทุนต่างประเทศที่จะไหลกลับเข้ามาลงทุน เพราะมีปัจจัยหนุนจากกระแสลงทุนทั่วโลกที่หันกลับเข้ามาลงทุนในกลุ่มหุ้นคุณค่า (Value Stock) มากขึ้น ซึ่งตลาดหุ้นกลุ่มประเทศเอเชีย รวมถึงตลาดหุ้นไทยมี Value Stock มากกว่าตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงค่าเงินดอลลาร์ที่จะอ่อนค่าลง
ดังนั้น ในไตรมาส 4 ช่วงที่การเปิดประเทศมีความชัดเจนมากขึ้น แนะนำนักลงทุนกลับเข้าไปซื้อหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเศรษฐกิจ (Reopening Play) โดยยังคงเป้าหมายดัชนีสิ้นปีนี้ที่ 1,650 จุด และปี 2565 ที่ 1,800 จุด ขณะที่การดึงสภาพคล่องออกจากระบบ (QE Tapering) คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยจำกัด เพราะนักลงทุนต่างประเทศถือครองหุ้นไทยต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวถึงผลสำรวจความเห็นสมาชิกนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนรวม 26 สำนัก เกี่ยวกับมุมมองการลงทุนในครึ่งหลังของปี2564 ว่า หุ้นไทยไตรมาส3ปี2564 แกว่งตัวในกรอบ 1,522-1,670 จุด และคาดว่าจะปิดสิ้นไตรมาส 3 เฉลี่ยที่ 1,609 จุด และปิดสิ้นปีที่ 1,647 จุด