ศบค. เล็งตั้งศูนย์ 'วอล์คอินแล็บ' นิมิบุตร ตรวจเชื้อโควิดกลุ่มไม่เสี่ยง

ศบค. เล็งตั้งศูนย์ 'วอล์คอินแล็บ' นิมิบุตร ตรวจเชื้อโควิดกลุ่มไม่เสี่ยง

ศบค. แจงเหตุร้องเรียนกรณีประชาชนไม่สามารถหาสถานที่ตรวจโควิดได้ เนื่องจากต้องใช้สำหรับกลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยผ่าตัด คลอดลูก เล็งตั้งศูนย์ 'วอล์คอินแล็บ' อาคารนิมิบุตร 'ตรวจเชื้อโควิด' กลุ่มไม่เสี่ยง

วันนี้ (7 ก.ค. 64) ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์​การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวถึง ประเด็นการร้องเรียนไม่สามารถหาสถานที่ 'ตรวจเชื้อโควิด' ได้ โดยอธิบายว่า การตรวจแล็บหรือการตรวจทางห้องปฏิบัติการมีพี่น้องประชาชนจำนวนมากสงสัย อยากจะทราบว่าตัวเองติดเชื้อหรือไม่ อยากจะเข้าไปตรวจ แต่ก็เห็นในภาพข่าวว่าไปถึง รพ. แต่ถูกปฏิเสธ

จริงๆ รัฐไม่ได้ห้ามการตรวจ แต่สิ่งที่ที่ประชุมย้ำเสมอ คือ มีการทบทวนว่าแต่ละแล็บต้องมีมาตรฐาน แต่ไม่ได้บอกว่าแล็บส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน แต่ต้องย้ำว่า หลายห้องปฏิบัติการทำได้ตามมาตรฐานและแม่นยำ เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ป่วยได้รับการยืนยันผลบวก และไปรับการจัดการเตียง เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการจัดหาเตียงได้ทันที

  • Rapid Test มีข้อจำกัด 

แต่เราได้ยินบ่อย คือ ลักษณะการตรวจ Rapid Test ที่ผู้ป่วยถือผลแล็บมา รพ.จัดเตียงให้ไม่ได้ ต้องให้ไปตรวจซ้ำใหม่ เพราะ Rapid Test ยังมีข้อจำกัดในการยืนยันการติดเชื้อ เช่น ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า Rapid Test จะมีทั้งการตรวจแอนติเจน หรือ แอนติบอดี้ หรือจะเรียกว่าการตรวจภูมิคุ้มกัน บางที่ก็จะเป็นการเจาะเลือดปลายนิ้วมือ หากผู้ป่วยเป็นผู้ป่วยอาการรุนแรง เชื้อปริมาณมาก Rapid Test สามาถตรวจได้จริงว่าบวก แต่ความไวการตรวจ Rapid Test ค่อนข้างต่ำ เพราะบางทีผลออกมาลบ แต่อาจเป็นผู้ติดเชื้อแต่ตรวจไม่เจอ  

           

 

  • Rapid Test รพ.เน้นตรวจโควิด 2 กลุ่ม

ดังนั้น สามารถใช้ในกรณีฉุกเฉิน คือ ผ่าตัดเร่งด่วน หลาย รพ. ใช้ Rapid Test หรือ คนที่มีอาการ เชื้อเยอะ ตรวจเจอแน่  Rapid Test  จะรายงานผลแม่นยำ แต่ยังมีความเป็นห่วงว่า ที่ไม่อนุญาตให้บางแล็บตรวจ เพราะมาตรฐานของการตรวจมากกว่า ส่วนของการตรวจทุก รพ. มีการรับ แต่เน้น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่เตรียมการผ่าตัด คลอดลูก ทำฟัน หรือต้องเข้าห้องไอซียู ถัดมา ให้ความสำคัญกับกลุ่มประวัติเสี่ยงสูงเดินทางพื้นที่เสี่ยง เช่น สามีติดเชื้อ มีความเป็นไปได้ว่าเราจะติดเชื้อ

“การที่ รพ. ตรวจทั้งสองกลุ่ม 300-400 รายต่อวัน ถือเป็นภาระหน้างานเหมือนกัน ดังนั้น คนที่วอล์คอินเข้าไปตรวจ โดยไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องผ่าตัด หรือไม่เสี่ยงสูง อาจจะขออนุญาตให้สิทธิกับคนที่จำเป็นก่อน”  

 

  • กทม. เล็งเปิดศูนย์ 'วอล์คอินแล็บ' ตรวจเชื้อโควิด

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้หารือ ว่าการที่ ทกม. ลงตรวจ 2 ส่วน คือ หากผู้ป่วยที่วอล์คอินเข้ามา สัมผัสเสี่ยงสูง จะพบ 90% เป็นผลบวก ขณะที่อีกส่วนหนึ่งที่ กทม. รายงานเป็นกลุ่มก้อน ตลาด โรงงาน พอตั้งจุดตรวจ พบว่า อัตราการตรวจจับการระบาดในระบบเฝ้าระวังพบเพียง 10%

ดังนั้น จึงมีปรับระบบการตรวจ คือเน้นในการค้นหาสอบสวนการระบาด ตามไทมไลน์ผู้ติดเชื้อ ตามว่าสัมผัสเสี่ยงกับใครบ้าง แต่หากประชาชนไม่ได้เข้าข่ายอยากตรวจเอง ที่ประชุมมีการหารือว่าในระยะใกล้นี้อาจจะ เปิด 'ศูนย์วอล์คอินแล็บ' ที่นิมิบุตร หากตรวจแล้วมีผลติดเชื้อ ก็จะมีการจัดการพิจารณาเขียวเหลือแดง ขอให้ติดตามรายงานในระยะนี้ ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการตรวจ การจัดการเตียง และการแยกกักที่บ้าน