เปิดความเห็น 'คกก.กลั่นกรองเงินกู้ฯ' แนะซื้อวัคซีนคุณภาพสูงรับมือ 'โควิดกลายพันธุ์'
เปิดความเห็น คกก.กลั่นกรองเงินกู้ฯ ให้ซื้อซิโนแวคเพิ่ม 10.9 ล้านโดส แต่เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขหาทางซื้อวัคซีนเทคโนโลยีคุณภาพสูงป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ของโควิดให้ได้ด้วย เปิดราคาซิโนแวค 10.9 ล้านโดสล่าสุดราคาโดสละ 556.48 บาท
คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมามีมติเห็นชอบให้มีการจัดซื้อวัคซีน "ซิโนแวค" (Sinovac) เพิ่มเติมอีก 10.9 ล้านโดส วงเงินรวม 6,111.41 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด 19 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาทซึ่งได้โยกวงเงินจากแผนงานเยียวยาประชาชน (แผนงานที่2) มาใช้ในแผนงานสาธารณสุข (แผนงานที่1) 5,871.87 ล้านบาทรวมกับวงเงินในบัญชีที่ 1 ที่เหลืออยู่อีกประมาณ 240 ล้านบาททำให้มีวงเงินในการซื้อวัคซีนของซิโนแวคเพิ่มเติมอีก 10.9 ล้านโดสตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอ
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าเบื้องหลังของการสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติมอีก 10.9 ล้านโดส กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือ เรื่องขอเสนอโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 เร่งด่วนจำนวน 10.9 ล้านโดส เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้แก่บุคลากรและประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนจำนวนนี้ในเดือน ก.ค. - ส.ค.2564 ในกลุ่มเสี่ยงหลัก 4 กลุ่มได้แก่ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 2.ประชาชนที่มีโรคประจำตัวตามที่กำหนด 3.ประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 4.กลุ่มเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย รวมทั้งกลุ่มประชาชนทั่วไปที่จะได้รับวัคซีน
กรมควบคุมโรคระบุว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดซื้อวัคซีนจากบริษัทซิโนแวคจำนวน 10.9 ล้านโดส เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ตามนโยบายรัฐบาล ตลอดจนสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้แก่ประชาชน ลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต และลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 และช่วยฟื้นฟูสภาวะเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว
คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ ที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธานได้พิจารณาโครงการ/แผนงานในเรื่องการจัดหาวัคซีนตามที่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยเห็นควรให้มีการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มเติมจำนวน 10.9 ล้านโดส โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
โดยการจัดหาวัคซีนส่วนนี้จะช่วยให้แผนการจัดหาวัคซีนของประเทศเป็นไปได้ตามเป้าหมายที่จะต้องจัดหาวัคซีนให้ประชาชนให้ได้อย่างน้อย 100 ล้านโดสในปี 2564 โดยการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคในครั้งนี้จะได้ราคาที่ถูกลงจากการจัดซื้อครั้งก่อนที่ราคา 556.48 บาทต่อโดส ขณะที่ครั้งก่อนได้ราคา 580.48 บาทต่อโดส เมื่อรวมราคาค่าใช้จ่ายอื่นๆต่อโดสในการจัดซื้อครั้งนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 556.40 ต่อโดส
อย่างไรก็ตามคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าเพื่อให้การจัดหาวัคซีนของประเทศเป็นไปตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงสาธารณสุขควรพิจารณาเตรียมแผนการจัดหาวัคซีนล่วงหน้าตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2564 - 2565 เพื่อให้จัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด -19
นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังต้องพิจารณาจัดทำแผนดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนบริหารจัดการวัคซีนเพื่อไม่ให้มีปัญหาการเข้าถึงวัคซีนดังเช่นที่ผ่านมา ขณะที่กรมควบคุมโรคควรปรับปรุงกระบวรการจัดซื้อและการบริหารจัดการวัคซีน เพื่อให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และมุ่งเน้นต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้อย่างแท้จริง
“การจัดซื้อซิโนแวคเพิ่มอีก 10.9 ล้านโดสคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งเมื่อมีการยกเหตุผลเรื่องของเป้าหมายในการจัดสรรวัคซีนให้ได้ถึง 100 ล้านโดสในปี 2564 คณะกรรมการฯไม่ได้ขัดข้อง แต่หากระหว่างการจัดหาวัคซีนดังกล่าวประเทศไทยมีโอกาสได้รับวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีอื่นๆที่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ได้สูงกว่า ขอให้กระทรวงสาธารณสุขจัดซื้อวัคซีนดังกล่าวควบคู่ไปด้วย”
ประเทศไทยมีเป้าหมายในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้ได้ 150 ล้านโดสภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 โดยในปี 2564 ให้จัดหาให้ได้ 100 ล้านโดส
สำหรับความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของไทยมีการจัดหาและจองวัคซีนแล้ว 105.5 ล้านโดส แบ่งเป็น
- วัคซีนจากแอสตร้าเซเนก้า ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ 61 ล้านโดส
- จัดซื้อจากบริษัทไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดส
- บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จำนวน 5 ล้านโดส และ
- วัคซีนของบริษัทซิโนแวค จำนวน 19.5 ล้านโดส โดยในส่วนนี้รวมกับวัคซีน 10.9 ล้านโดสที่ ครม.อนุมัติให้ซื้อล่าสุดด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม :
‘สภาพัฒน์’ ชวนคนไทยฉีดวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
'นักวิชาการ' ชี้ 'วัคซีนโควิด' คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์มากกว่าจ่ายเงินเยียวยา