'ทีดีอาร์ไอ' แนะรัฐเดินหน้า 7 มาตรการ ยกระดับคุมโควิด - เยียวยากลุ่มเปราะบาง
"ทีดีอาร์ไอ" เสนอรัฐปรับมาตรการรับมือโควิด-19 มุ่งช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เพิ่มเงินเยียวยาควบคู่กับการยกระดับการควบคุมโรคระบาด ส่งผลเศรษฐกิจได้รับผลกระทบทำให้ถดถอยมีคนตกงาน และถูกลดชั่วโมงการทำงานมาก แนะเดินหน้า 7 ข้อแก้ปัญหา - วางอนาคตหลังโควิด
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง และนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอถึงรัฐบาลในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดเสนอต่อรัฐบาล
โดยมีสาระสำคัญ คือ ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกจนถึงระลอกปัจจุบัน รัฐบาลมีมาตรการควบคุมการระบาดหลากหลายระดับแล้วแต่สถานการณ์ แต่ล้วนส่งผลกระทบทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจถดถอยทั้งในวงกว้างหรือเฉพาะจุด มีผู้ตกงานทันทีหรือถูกลดชั่วโมงการทำงานจำนวนหลักล้านคน เกิดผลกระทบทางสังคมตามมารุนแรง ทั้งสำหรับคนทั่วไปและกลุ่มเปราะบาง เช่นนักเรียนและครูที่ต้องเรียน สอนออนไลน์ ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก กลุ่มนักเรียนที่ออกจากสถานศึกษากลางคัน ครอบครัวที่ประสบปัญหายากจนเฉียบพลันและอาจกลายเป็นผู้ยากคนเรื้อรัง
แรงงานนอกระบบไม่อยู่ภายใต้ระบบคุ้มครองทางสังคม แรงงานต่างด้าวทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย บัณฑิตจบใหม่ที่หางานไม่ได้ กลุ่มคนไร้บ้านที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ผู้สูงอายุและผู้พิการที่มีเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้จำกัดขึ้น แม้คนเหล่านี้จะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลเป็นระยะตั้งแต่ปีที่ผแล้ว แต่ก็มีประเด็นเรื่องความเพียงพอของความช่วยเหลือโดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเปราะบางที่สายป่านสั้น ไม่อาจรองรับผลกระทบหลายระลอกได้ และยังมีการตกหล่นผู้ได้รับผลกระทบอีกจำนวนหนึ่ง
ทีดีอาร์ไอจึงเสนอแนวนโยบายและมาตรการการเยียวยาที่เรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา รวมถึงการมองไปข้างหน้า โดยมีแนวคิดคือการเยียวยาควรมีประกอบด้วยคุณลักษณะที่ครบถ้วน ทันการณ์ เพียงพอ ส่งเสริมการควบคุมการระบาด มีความยืดหยุ่นและปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ดูแลกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ คำนึงถึงผลกระทบระยะยาวหรือ ‘แผลเป็น’ ต่อกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคม โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. เพิ่มระดับการเยียวยากลุ่มเปราะบาง ที่สอดคล้องกับระดับผลกระทบและความสามารถในการรับมือของกลุ่มต่าง ๆ โดยรวบรวมและประสานฐานข้อมูลต่าง ๆ ที่ภาครัฐมีอยู่ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ ผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้เข้าร่วมโครงการเยียวยาต่าง ๆ ที่ผ่านมา การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ รวมทั้งการประสานข้อมูลกับองค์กรทางสังคมที่เข้าถึงกลุ่มเปราะบางนอกเหนือจากภาครัฐ เช่นชุมชนในเมือง ชุมชนชนบท ฐานข้อมูลดังกล่าวต้องมีการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ มีการตรวจสอบความถูกต้องที่ต้องไม่ใช้เวลามากเกินไปเพื่อมิให้การให้ความช่วยเหลือล่าช้าเกินไป
2. เพิ่มมิติการเยียวยาที่เกิดขึ้นพร้อมกับการระบาดระดับสูงในปัจจุบัน ประกอบด้วยการชดเชยรายได้ให้กลุ่มเสี่ยงสูงเปราะบางที่ต้องถูกกักตัวระยะยาว ไม่สามารถทำงานได้ (เช่นชุมชนแออัด แคมป์คนงาน) โดยอาจให้การช่วยเหลือเป็นสิ่งของหรือเงินเยียวยาที่มีมูลค่ารวมไม่น้อยกว่ารายรับเดิมที่แรงงานได้รับในระยะกักตัว การมีกลไกดูแลบุตรหลานผู้ติดเชื้อที่ขาดคนดูแล การดูแลสมาชิกครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากโควิดที่ยังรอดชีวิตซึ่งถูกกระทบทั้งด้านจิตใจ ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมอย่างรุนแรง
3.สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการปิดหรือลดระดับกิจการอย่างสำคัญ รัฐบาลอาจสนับสนุนการจ้างงานระยะสั้น เช่นจ้างงานชั่วคราวให้พนักงานโรงแรม ร้านอาหาร และพนักงานขับรถ ทำหน้าที่ทำอาหารหรือขนส่งอาหารให้กับอาสาสมัครหรือประชาชนในพื้นที่ระบาดซึ่งจำเป็นต้องกักตัวในบ้าน หรือการว่าจ้างงานชั่วคราว ให้ประชาชนกลุ่มที่ตกงานที่มีความพร้อมเข้ารับการฝึกอบรมให้ทำหน้าที่คนดูแลผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น โดยมาตรการ 2 และ 3 ข้างต้นจะมีส่วนช่วยยกระดับความร่วมมือในการควบคุมการระบาดไปพร้อม ๆ กับการเยียวยา
4. คณะรัฐมนตรี (ครม.)ควรกำหนดกลไกการจัดสรรและเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อการเยียวยาให้มีลักษณะอัตโนมัติหรือกึ่งอัตโนมัติ มากขึ้น เช่นกำหนดเกณฑ์การช่วยเหลือ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนแต่แรก กระบวนการงบประมาณที่ยืดหยุ่น เพื่อให้หน่วยงานรับผิดชอบสามารถให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที ไม่ติดปัญหาระบบราชการและงานเอกสารที่ใช้เวลา
5.ควรมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการเยียวยาทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าปัจจุบัน ที่คาดว่าจะมีงบประมาณในส่วนของการเยียวยา เพียงประมาณ 2.8 แสนล้าน ซึ่งน่าจะไม่เพียงพอโดยเฉพาะหากการระบาดยังคงระดับสูงและต่อเนื่องอีกระยะเวลาหนึ่งจนกว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่
6. นโยบายการจัดหาและกระจายวัคซีน ควรมีมิติการป้องกันการติดเชื้อ การป่วยหนักและการตายของกลุ่มเปราะบางด้วย ในความเห็นของหลายกลุ่มเปราะบางการเยียวยาที่ดีที่สุดคือ ‘การได้รับวัคซีน’ เพราะจะทำให้ไม่ติดเชื้อสามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ หรือถ้าติดเชื้อก็ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลจนขาดรายได้ ไม่ตายจนครอบครัวเดือดร้อน
และ 7.จัดให้มีมาตรการระยะยาวเพื่อส่งเสริมให้กลุ่มเปราะบางสามารถมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤติการระบาดเบาบางลง ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการจ้างกลับมาทำงาน การยกระดับหรือปรับเปลี่ยนทักษะการทำงาน เป็นต้น