ธุรกิจรอด-ไม่รอด! หลังเผชิญโควิด-มาตรการรัฐ เบรกหัวทิ่ม! กระเทือนการปรับตัวทุกระลอก
โควิด-19 ที่ระบาดอยู่กับคนไทยทั้งประเทศข้ามปี ระยะเวลาร่วม 1 ปี 4 เดือน ทำให้ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ “เรียนรู้” เพื่อจะ “อยู่รอด” แต่กี่กลยุทธ์ตลาด หลากการปรับตัว แก้เกมสู้ แต่ดูเหมือนปัจจัยภายนอกยังเป็นภัยคุกคาม(Threats) ใหญ่ที่ท้าทายมาก
บทเรียนล่าสุดต้องยกให้การปรับตัวของร้านอาหารและเบเกอรี่ชื่อดัง “เอสแอนด์พี” เพราะ 1 วันกับการประกาศกลยุทธ์การพลิกหน้าร้านให้เป็น “เอสแอนด์พีมาร์เก็ตเพลส” หรือตลาดนัด S&P เต็มรูปแบบ” เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ต้องเจอมาตรการฟ้าผ่า! จากรัฐซึ่งจะกลับมา “ล็อกดาวน์” ห้างค้าปลีก ร้านค้าต่างๆอีกครั้ง เพื่อสกัดโรคระบาดและการพบผู้ติดเชื้อใกล้หลัก “หมื่นคน”
ย้อนดูการปรับตัวของ “เอสแอนด์พี” ผ่านคำบอกเล่าของ อรรถ ประคุณหังสิต ประธานเจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการธุรกิจ บริษัท เอส แอนด์ พี บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ที่ต้องการนำพื้นที่ร้านทั่วประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงแปลงให้เป็นตลาดนัดซื้อขายอาหาร เบเกอรี่ เครื่องดื่ม ฯ ทั้งแบบกลับบ้าน และเดลิเวอรี่ ไปพร้อมๆกัน
เอสแอนด์พี มีร้าน 380 จุดทั่วไทย กระจายในห้างค้าปลีก 95% ร้านที่มีศักยภาพนำมาแปลงเป็น มาร์เก็ตเพลส มี 130 ร้าน แบ่งพื้นที่นั่งรับประทานอาหาร 100-150 ตารางเมตร(ตร.ม.) รวมถึงจุดแข็งสินค้าที่จำหน่ายมีมากกว่า 350 รายการ(SKUs) มาตอบโจทย์ผู้บริโภค
การปรับตัวดังกล่าว เพราะบริษัทประเมินสถานการณ์โรคระบาดอาจมาราธอนกว่าเดิม และการ “ปิดร้าน” ให้นั่งรับประทานอาหารจะเกิดขึ้นอีกครั้ง หรือ “ปิดๆ..เปิดๆ” กระทบธุรกิจ การโฟกัสลูกค้าที่ซื้ออาหาร เบเกอรี่กลับบ้าน เดลิเวอรี่จึงต้องเข้มข้นขึ้น
“เราอยู่กับโควิดมาปีเศษ เกิดการเรียนรู้หลายอย่าง หากสถานการณ์แพร่ระบาดหนักขึ้น หรือไวรัสยังอยู่อีกนาน New Normal อาจต้องปิดร้าน 100% ไม่มีลูกค้าเลย บริษัทจึงปรับตัวโฟกัสเดลิเวอรี่ ผ่านร้านเดลต้า รวมถึงการเปลี่ยนจุดแข็งให้แกร่งขึ้นด้วยการเปิดเอสแอนด์พีมาร์เก็ตเพลส”
นอกจากจัดสรรพื้นที่ขายสินค้า ยังแบ่งเป็น 8 โซน เพื่อให้ลูกค้าเลือกช้อปแต่ละหมวดหมู่ได้ตามใจด้วย เช่น เมนูอาหารพร้อมทาน เบเกอรี่อบสด เค้กปอนด์ เครื่องดื่มบลูคัพฯ เพื่อสร้างความว้าว! และมอบประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า ยังเพิ่มเตาอบ มาอยู่ในร้านให้ลูกค้าเห็นการปรุง ประกอบอาหาร เบเกอรี่แบบสดๆใหม่ๆ ออกจากเตานั่นเอง ยิ่งกว่านั้น โมเดลธุรกิจครั้งนี้ ใช้สรรพกำลังพนักงานร่วม 1,000 ชีวิตมาช่วยกันเพื่อผลักดันการเติบโต
ทว่า ฟ้าผ่า! ครั้งใหม่ จากก่อนหน้านี้ ร้านอาหารถูกสั่งปิดให้บริการนั่งทานในร้าน(Dine in) ถึงวันที่ 28 ก.ค. นี้ ล่าสุดรัฐประกาศล็อกดาวน์ 10 จังหวัด ห้ามเดินทาง ขอความร่วมมือทำงานที่บ้าน(Work from home) 100% ห้างค้าปลีกปิดให้บริการ เปิดได้แค่ร้านยา ซูเปอร์มาร์เก็ต ฯ มีผล 12 ก.ค.นี้ มาตรการดังกล่าว ย่อมกระทบแผนธุรกิจของ “เอสแอนด์พี” ที่เพิ่งปรับตัวหมาดๆ เช่นกัน ซึ่งเชื่อว่าหลายธุรกิจ ตกอยู่ในภาวะดังกล่าวด้วย
ก่อนโควิดระบาด “เอสแอนด์พี” สร้างยอดขายร้านอาหารเฉลี่ย 120-150 ล้านบาทต่อเดือน ภาพรวม 6 เดือน ยอดขายลดลง 6% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยอดขายส่วนใหญ่มาจากการซื้อกลับบ้าน 73% นั่งทานที่ร้าน 14% และเดลิเวอรี่ 13% ส่วนการลุยเดลิเวอรี่ เดลต้า ได้เปิดร้านไป 16 สาขา สิ้นปีคาดว่าจะเปิดครบ 31 สาขาตาเป้า แต่การปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง กระทบการเปิดร้านให้ชะลอตัวเล็กน้อย
วันที่ 1-7 ก.ค. บริษัททดลองโมเดล “เอสแอน์พีมาร์เก็ตเพลส” สร้างยอดขายเติบโต 25% เทียบ 7 วันแรกของเดือนมิ.ย. และเพิ่ม 37% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ “โอกาส” การต่อลมหายใจ การพยายามดื้นหนีหายนะจากไวรัสร้าย ถูกดับฝันข้ามคืน
สำหรับกลยุทธ์การปรับตัวเพื่อฝ่าห้วงเวลามรณะของ “เอสแอนด์พี” ไม่หมดเท่านี้ เพราะปลายปี บริษัทเตรียมเข็นโมเดลใหม่ มาให้บริการลูกค้า แต่ที่น่าสนใจ “เอสแอนด์พีมาร์เก็ตเพลส” เดิมจะทำชั่วคราวถึงกลางเดือนส.ค. หากผลตอบรับดีจะลุยทำตลาดถาวร คงต้องกลับมาทบทวนแผน พลิกสูตรรบรอบใหม่เป็นแน่
อย่างไรก็ตาม ตาม “อรรถ” ถึงการปรับตัวแล้วปรับตัวเล่า เพียงพอจะให้บริษัทอยู่รอดได้หรือไม่ คำตอบสร้างพลังใจคือ
“เราต้องการสร้างความแข็งแกร่ง จะอยู่รอดให้ได้ ภาวะสถานการณ์แบบนี้ เราต้องช่วยตัวเอง การแพร่ระบาดไวรัสรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่เราปรับตัว ต้องรอดครับ”