เพิ่มจุดตรวจ 'โควิด-19' วันละ 1 หมื่นราย เริ่ม 12 ก.ค.เป็นต้นไป ที่ไหนบ้าง?

เพิ่มจุดตรวจ 'โควิด-19' วันละ 1 หมื่นราย เริ่ม 12 ก.ค.เป็นต้นไป ที่ไหนบ้าง?

สปสช.จับมือ สปคม. คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทีมตรวจ "โควิด-19" เชิงรุก ใช้ชุดตรวจ "Rapid Antigen Test" รู้ผลใน 30 นาที ตั้งเป้าตรวจวันละ 10,000-12,000 ราย เริ่ม 12 ก.ค.เป็นต้นไป หากพบติดเชื้อจับคู่ให้คลินิกชุมชนอบอุ่นดูแลที่บ้าน

เมื่อวันที่ 11 ก.ค.64 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ระบาดหนักจนมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ขณะเดียวกันก็มีประชาชนที่ต้องการเข้ารับการตรวจหาเชื้อเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล ได้มอบให้ สปสช.ประสานกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกกระจายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 12 ก.ค. 2564 เป็นต้นไป โดยตั้งเป้าตรวจให้ได้วันละ 10,000-12,000 คน เบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการประมาณ 1-2 สัปดาห์

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การตรวจหาเชื้อดังกล่าว จะใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ที่ขึ้นทะเบียนแบบใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ (Professional Use) ซึ่งจะทราบผลตรวจภายใน 30 นาที โดยหากปรากฎว่าผลตรวจเป็นบวกหรือติดเชื้อก็จะเข้าสู่กระบวนการรักษา อย่างไรก็ดี เนื่องจากขณะนี้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและเตียงในโรงพยาบาลใน กทม. ก็ใช้งานจนเต็มแล้ว ดังนั้นกรมการแพทย์จึงได้วางแนวทางให้รักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือในชุมชน (Community Isolation) 

"ขอย้ำว่าเราไม่ได้ทอดทิ้งให้ท่านกลับไปอยู่บ้านเฉยๆ เราได้ออกแบบระบบรองรับไว้แล้ว โดยให้คลินิกชุมชนอบอุ่น ในพื้นที่ที่ท่านพักอาศัยคอยติดตามดูแลสุขภาพของท่าน หากไม่สามารถดูแลที่บ้านได้เนื่องจากสภาพที่อยู่อาศัยไม่พร้อมก็จะเป็นการดูแลโดยชุมชนในสถานที่ที่ชุมชนจัดไว้ เช่น ศาลาวัด หอประชุมโรงเรียน ซึ่งขณะนี้กรุงเทพมหานคร รวมถึงภาคประชาสังคมได้ดำเนินการแล้ว โดยเมื่อทราบผลว่าติดเชื้อซึ่งส่วนใหญ่การพบการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มการตรวจเชิงรุกคือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือกลุ่มสีเขียว ก็จะมีการรายงานผลเข้าระบบฐานข้อมูลของ สปสช. ส่วนท่านกลับไปกักตัวที่บ้านก่อน อย่าออกไปไหน สปสช.จะจับคู่คลินิกชุมชนอบอุ่นใกล้บ้านเพื่อการดูแลให้ ซึ่งก็จะมีคลินิกชุมชนอบอุ่นติดต่อไปหาท่านภายใน 48 ชั่วโมง" นพ.จเด็จ กล่าว

162600262470

เมื่อคลินิกชุมชนอบอุ่นติดต่อผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้แล้ว ก็จะส่งเครื่องวัดไข้และเครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือดไปให้ที่บ้าน รวมถึงยาฟ้าทะลายโจร โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ของคลินิกนั้นซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ทำวิดีโอคอล หรือ Telehealth ติดตามประเมินอาการวันละ 2 ครั้งทุกวัน ขณะเดียวกันก็จะจัดส่งอาหารให้วันละ 3 มื้อ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อสามารถกักตัวอยู่ในบ้านได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดหาอาหาร

นอกจากนี้แล้ว ในกรณีที่ผู้ป่วยอาการแย่ลงหรือเปลี่ยนเป็นผู้ป่วยในกลุ่มสีเหลืองและสีแดง คลินิกชุมชนอบอุ่นจะประสานกับโรงพยาบาลรับส่งต่อของตัวเองให้รับตัวผู้ป่วยไปรักษาในโรงพยาบาล และในกรณีที่โรงพยาบาลรับส่งต่อก็เตียงเต็มอีก ก็จะประสานสายด่วน 1330 ของ สปสช. หรือสายด่วน 1668 ของกรมการแพทย์ เพื่อหาเตียงให้ ซึ่งระหว่างที่รอเตียงอยู่ก็จะส่งยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ที่บ้าน เพื่อประคองอาการไปก่อนจนกว่าจะได้เตียงในโรงพยาบาล

นพ.จเด็จ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่ 80% เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว คือไม่แสดงอาการหรืออาการไม่รุนแรง ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถรักษาที่บ้านได้ ขณะที่ สปสช.มีเครือข่ายคลินิกชุมชนอบอุ่นหรือหน่วยบริการปฐมภูมิอื่นในพื้นที่ กทม. 204 แห่ง แต่ละแห่งมีศักยภาพ (capacity) ดูแลผู้ป่วยได้ 200 ราย รวมแล้วสามารถดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่รักษาตัวที่บ้านได้ประมาณ 40,000 ราย ซึ่งเมื่อผู้ติดเชื้อสีเขียวเข้าสู่ระบบการรักษาตัวเองที่บ้าน ก็จะทำให้มีพื้นที่เตียงว่างในโรงพยาบาลสำหรับรองรับผู้ป่วยที่อาการปานกลางและอาการรุนแรงได้มากขึ้น 

162600262663

อย่างไรก็ตาม นอกจากการจับคู่คลินิกชุมชนอบอุ่นรักษาที่บ้านหรือที่ชุมชนแล้ว กรณีผู้ติดเชื้อไม่มีอาการที่ต้องการกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาหรือต่างจังหวัด สปสช.เปิดสายด่วน 1330 ให้ประชาชนแสดงความจำนงที่จะกลับไปรักษาที่ต่างจังหวัด แล้ว สปสช.จะประสานจังหวัดและจัดรถไปส่งที่โรงพยาบาลให้ โดยค่าพาหนะเบิกจาก สปสช.ได้ตามหลักเกณฑ์ 

จุดตรวจเชิงรุกโดยใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ที่ขึ้นทะเบียนแบบใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ (Professional Use) ที่จะเริ่มในวันจันทร์ที่ 12 ก.ค.เป็นต้นไป เวลา 8.00 น.เป็นต้นไปจนกว่าจะตรวจครบ ดังนี้

  1. สนามกีฬาธูปะเตมีย์ กองทัพอากาศ ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี
  2. สนามราชมังคลากีฬาสถาน (หัวหมาก) เขตบางกะปิ กทม.

ซึ่งทั้ง 2 แห่งนี้ ทางสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) จะเป็นผู้ตรวจโดยใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ตั้งเป้าจุดละ 3,000 รายต่อวัน และ 3. ลานจอดรถชั้น 5 อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ โดย คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นผู้ตรวจโดยใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test (เนื่องจากวันแรกจะทดลองระบบวันละ 500 รายก่อนจะเพิ่มจนได้ตามเป้าหมายวันละ 3,000 ราย) และในวันพุธที่ 14 ก.ค.เป็นต้นไป เวลา 8.00 น.เป็นต้นไปจนกว่าจะตรวจครบ จะเพิ่มอีก 1 จุดคือ 3,000 รายต่อวันเช่นกัน คือที่สนามฟุตบอลกองพล ปตอ. เกียกกาย เขตดุสิต กทม. สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) จะเป็นผู้ตรวจโดยใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test 

ทั้งนี้ สปสช.มีแผนขยายการตรวจโควิด-19 เชิงรุกโดยใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ที่ขึ้นทะเบียนแบบใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ (Professional Use) ในคลินิกชุมชนอบอุ่นใกล้บ้านด้วย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจได้ง่ายขึ้น ลดความแออัดที่จุดตรวจเชิงรุก และลดการรอคอย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน สปสช. โทร. 1330