‘บีไอจี’ เตรียมเปิดโรงงานแยกอากาศแห่งใหม่หนุนกำลังผลิต ‘ออกซิเจน’
“บีไอจี” ยัน “ออกซิเจน” ในประเทศไม่ขาดแคลน แม้ความต้องการใช้ เพิ่มอีก 20% หรือ จากปกติอยู่ที่ระดับ 300-350 ตันต่อวันเพิ่มขึ้นเป็น 400 ตันต่อวัน เตรียมเปิดโรงงานแยกอากาศแห่งใหม่ เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 1,150 ตันต่อวัน
นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ บีไอจี ในฐานะผู้ผลิตออกซิเจนรายใหญ่ของประเทศ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19ที่หลายประเทศยังคงประสบปัญหาผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของไทยที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอยู่ในอัตราที่สูง ทำให้หลายภาคส่วนเริ่มมีความกังวลต่อความเพียงพอของออกซิเจนทางการแพทย์นั้น บีไอจีขอให้ความมั่นใจว่าสามารถผลิตออกซิเจนเพื่อรองรับระบบสาธารณสุขไทยได้อย่างเนื่องและเพียงพอในระยะยาว เนื่องจากในขณะนี้บีไอจีมีกำลังการผลิตออกซิเจนสูงถึง1,000 ตัน/วัน ขณะที่ความต้องการใช้ในภาวะปกติ อยู่ที่ 300-350ตัน/วัน แต่ด้วยสถานการณ์ที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ต่อวันมากกว่าปกติ โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 20% หรือเพิ่มขึ้นเป็น400ตัน/วัน
สำหรับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19ระลอกใหม่ในประเทศไทยเวลานี้ ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน และจำนวนผู้ป่วยใหม่ที่เข้ารักษาในสถานพยาบาลทั่วประเทศเพิ่มมากขึ้นออกซิเจนทางการแพทย์คือหัวใจของการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อทางปอดและอยู่ในขั้นวิกฤติ บีไอจีมีแผนเตรียมพร้อมเพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นไว้แล้ว และบีไอจีขอให้ความมั่นใจว่าปริมาณออกซิเจนทางการแพทย์สามารถรองรับความต้องการของโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศและโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยขั้นวิกฤติยังคงพอเพียงไม่ว่าในสถานการณ์ใดก็ตาม
ทั้งนี้ บีไอจี ได้เตรียมพร้อมการบริหารจัดการกำลังการผลิต การขนส่ง รวมถึงการสำรองออกซิเจนเหลวในถังเก็บสำรองที่อยู่พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ขนาดความจุมากกว่า 7,300 ตัน และในเดือนสิงหาคม 2564ที่จะถึงนี้ จะมีการเปิดโรงงานแยกอากาศ (ASU) แห่งใหม่ ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตออกซิเจนเพิ่มมากขึ้นอีก 140 ตัน/วัน รวมเป็นเกือบ 1,150 ตัน/วัน
จากสถานการณ์ขาดแคลนออกซิเจนในหลาย ๆ ประเทศนั้น อุปสรรคที่นอกเหนือจากปริมาณการผลิตออกซิเจนทางการแพทย์ที่จำกัดแล้ว ยังมีสาเหตุมาจากการขนส่งออกซิเจนในรูปแบบสถานะก๊าซ (Gas) ทำให้ปริมาณการขนส่งในแต่ละครั้งมีความจำกัด ในขณะที่ประเทศไทย การขนส่งออกซิเจนเป็นในรูปแบบของเหลว (Liquid) และนำมาเปลี่ยนสภาพเป็นก๊าซ ณ โรงพยาบาล ซึ่งทำให้มีปริมาณออกซิเจนมากกว่าการขนส่งในรูปแบบก๊าซกว่า 800 เท่า
นอกจากนี้ หากมีความจำเป็นที่ต้องการใช้ออกซิเจนอย่างเร่งด่วน บีไอจีสามารถปรับเปลี่ยนระบบการแยกอากาศให้ผลิตออกซิเจนเพิ่มขึ้นโดยลดการผลิตไนโตรเจนลงรวมทั้ง การนำออกซิเจนจากภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีความบริสุทธิ์ด้วยมาตรฐานเดียวกันมาเสริมความต้องการออกซิเจนทางการแพทย์ได้อีกด้วย
“บีไอจีขอให้มั่นใจว่าปริมาณออกซิเจนทางการแพทย์เพื่อรองรับความต้องการของโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งโรงพยาบาลสนามที่กำลังเปิดใหม่ยังคงพอเพียงไม่ว่าในสถานการณ์ใดก็ตาม”