ล็อกดาวน์ กระทบกองถ่ายโฆษณารอบใหม่ สมาคมฯ หนุนรัฐแก้วิกฤติโรคระบาดจบเร็ว
สมาคมโฆษณาฯห่วงบริหารจัดการโรคระบาดยืดเยื้อ ล็อกดาวน์ 14 วัน อาจสูญเปล่า ฉุดเศรษฐกิจ ธุรกิจทั้งระบบเสียหายหนัก เดินหน้าช่วยสมาชิก ประสานรัฐถ่ายงานโฆษณากรณีจำเป็น
นายรติ พันธุ์ทวี นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯอยู่ระหว่างการออกมาตรการเพื่อกำหนดแนวทางการทำงานของสมาชิก โดยเฉพาะการถ่ายทำโฆษณาต่างๆ ซึ่งจะต้องมีการออกกอง ลงพื้นที่ หากเป็นงานใหญ่จะใช้คนไม่ต่ำกว่า 50 คนขึ้นไป เช่น ช่างกล้อง ช่างไฟ เสียง ฯ แต่มาตรการล็อกดาวน์ที่เริ่มใช้ 12 ก.ค.เป็นต้นไป แต่ละพื้นที่มีความเข้มข้นต่างกัน อย่างพื้นที่สีแดงห้ามรวมกลุ่มเกิน 5 คน ยังมีประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ขอความร่วมมือให้ถ่ายทำผลงานได้ในสตูดิโอ งดพื้นที่สาธารณะ ล้วนกระทบการทำงานทั้งสิ้น
ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องออกกองจริงๆ สมาคมฯจะหาทางช่วยเหลือสมาชิก เพื่อให้ได้รับความสะดวกในการขอใบรับรองจากกสทช. เพื่อขออนุญาตถ่ายทำโฆษณาต่างๆ
“การล็อกดาวน์กระทบการถ่ายทำโฆษณา เพราะบางการสร้างสรรค์ผลงานมีการออกกองมากกว่า 50 คน ถ้าพื้นที่สีแดงต้องถ่ายทำ 5 คน เป็นเรื่องยากลำบากมาก แต่มาตรการรัฐที่ออกมาเพื่อบริหารจัดการและสกัดโรคโรควิด-19 เอเยนซี่ที่เป็นสมาชิกในสมาคมฯกว่า 100 บริษัท ทีมงานร่วม 3,000-4,000 คน เห็นพ้องและร่วมมือกับลูกค้า เพื่อปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว
สำหรับแต่ละเดือนมีผลงานโฆษณา รวมถึงสปอตที่จำหน่ายสินค้าทางโทรทัศน์ ซึ่งทั้งหมดต้องผ่านกองเซ็นเซอร์ร่วม 500-600 ชิ้นต่อเดือน หากจำเป็นต้องถ่ายทำโฆษณาจริงๆ และมั่นใจว่าควบคุมทุกอย่างภายใต้มาตรการรัฐ สมาคมฯจะหาทางอำนวยความสะดวกขอใบรับรองการถ่ายทำจากรัฐให้ แต่ตอนนี้เรื่องสุขภาพควรมาก่อน”
อย่างไรก็ตาม มาตรการล็อกดาวน์ที่ใช้ป้องกันโรคระบาด การถามหามาตรการเยียวยา หรือความรับผิดชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะทุกคนได้รับผลกระทบหมด แต่สิ่งที่ต้องการเห็นรัฐดำเนินการคือยอมเจ็บช่วงสั้นๆและแก้ไขสถานการณ์ให้จบโดยเร็ว หากล่าช้าจะทำให้เศรษฐกิจ ธุรกิจพังทั้งระบบ
“14 วันล็อกดาวน์เพียงพอไหม ธุรกิจมีความมหวัง หากคนไทยมีวินัย การล็อกดาวน์น่าจะลดการแพร่ระบาดได้ผล สถานการณ์ดีขึ้น หากลากยาว ธุรกิจต้องขึ้นอยู่กับสมรรถภาพในการปรับตัวแล้ว”
ด้านแนวโน้มอุตสาหกรรมโฆษณาปี 2564 มูลค่าหมื่นล้านบาท มองว่าอยู่ในภาวะทรงตัวเท่ากับปี 2563 ถือว่าดีแล้ว ที่ผ่านมามีการจำลองสถานการณ์ตลาด 3 เหตุการณ์ หากโควิดคลี่คลายเร็ว ธุรกิจกลับมาค้าขายได้จะเห็นการเติบโตดีสุด 2-3% เท่านั้น แต่อุตสาหกรรมผ่านจุดดีสุดมาแล้ว ส่วนระดับดีจะเห็นการเติบโต 1% และเลวร้ายสุดธุรกิจกลับมาดำเนินกิจกรรมในไตรมาส 3-4 ต้อนรับฤดูท่องเที่ยว ไฮซีซั่นขายสินค้า โฆษณาจะทรงตัวได้ 0% ส่วนการฟื้นตัวโดยรวมยังคาดการณ์ยาก เพราะสถานการณ์ไม่แน่นอน ไทยนับถอยหลังเปิดประเทศใน 120 วัน ซึ่งภาคส่วนยังไม่เชื่อมโยงกัน จึงต้องติดตาม หากทุกอย่างไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันใครจะกล้าเบรกแผนการเปิดประเทศ เพราะนโยบายดังกล่าวปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์