คกก.วัคซีนฯ เคาะ ร่างฯ คุม 'ส่งออกวัคซีน' รับมือไทยระบาดหนัก

คกก.วัคซีนฯ เคาะ ร่างฯ คุม 'ส่งออกวัคซีน' รับมือไทยระบาดหนัก

คกก.วัคซีนแห่งชาติ จัดหาวัคซีนปี 2565 เพิ่ม 120 ล้านโดส พร้อมเห็นชอบในหลักการ 'กำหนดสัดส่วนส่งออกวัคซีน' นอกราชอาณาจักร

วันนี้ (14 ก.ค.2564) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงผลการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ว่าที่ประชุมได้มีการพิจารณาเห็นชอบกรอบการจัดหาวัคซีนปี 2565 จำนวน 120 ล้านโดส ซึ่งจะจัดหาวัคซีนในรูปแบบ mRNA  ซับยูนิตโปรตีน และวัคซีนชนิดอื่นๆ เพื่อให้เพียงพอกับการฉีดให้แก่ประชาชนที่ยังเข้าไม่ถึงวัคซีน

รวมถึงมีผลต่อการตอบสนองต่อการกลายพันธุ์ของ โควิด 19 การฉีดกระตุ้น ภูมิคุ้มกัน และการมีวัคซีนไว้สำรองกรณีเกิดการระบาด  นอกจากนั้น ที่ประชุมได้มีให้ กรมควบคุมโรค ร่วมกับ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ในการจัดหาวัคซีนในปี 2564 นี้ให้ได้ครบตามจำนวน 100 ล้านโดส

  • เห็นชอบในหลักการ ประกาศกำหนดสัดส่วนส่งออก 'วัคซีน'

นพ.นคร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม คกก.วัคซีนแห่งชาติ ได้เห็นชอบในหลักการ การออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ 2561  เรื่องการ กำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีน นอกราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราว พร้อมทั้งได้ มอบหมายให้ฝ่ายเลขา นั้นคือ กรมควบคุมโรค และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พิจารณาผลกระทบ ด้านต่างๆ อย่างรอบด้าน

โดยยึดหลักผลประโยชน์ที่จะมีต่อประเทศและประชาชนเป็นหลัก อีกทั้งให้เจรจากับผู้ผลิต เพื่อให้ได้วัคซีนในจำนวนที่เหมาะสมกับการระบาดในประเทศ และดำเนินการเรื่องการส่งมอบ ซึ่งเมื่อได้ผลประการใด ให้มารายงานที่ประชุมอีกครั้ง

  • ระบุฉีด 'วัคซีนสลับชนิด'  หารือบ่ายนี้ 

ทั้งนี้ สำหรับการผลิต วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ในไทย กรณีที่จำกัด ห้ามออกนอกอาณาจักรนั้น นพ.นคร กล่าวต่อว่า ตามสัญญาเดิมสัดส่วนการใช้ในประเทศ บริษัทจะส่งมอบ วัคซีน ให้ไทย 1 ใน 3 ของกำลังการผลิต หรือตามยอดจัดซื้อคือไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของแต่ละช่วงเวลา เพราะการผลิตไม่มีโดสตายตัว ขึ้นอยู่กับจำนวนที่ผลิตได้จริง

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับกรณีการฉีด วัคซีนสลับชนิด นั้น ในบ่ายวันที่ 14 ก.ค.2564 นี้ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญจะประชุมหารือร่วมกัน ส่วนกรณีคำเตือนขององค์การอนามัยโลก (WHO) นั้น คำเตือนดังกล่าวมีความยาวพอสมควร การตัดเอาท่อนใดท่อนหนึ่งมาทำให้มีปัญหา ซึ่ง  WHO ระบุว่าถ้าสาธารณสุขของแต่ละประเทศมีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน ก็สามารถดำเนินการได้ โดยให้ขึ้นกับสถานการณ์ของแต่ละประเทศ  WHO ไม่ได้บอกว่ามีอันตราย หรือห้ามทำ