นายกแพทยสมาคมฯหนุนฉีดวัคซีนโควิด19สลับชนิด ไม่ขัดWHO
นายกแพทยสมาคมฯหนุนฉีดวัคซีนโควิด19สลับชนิด ชี้สร้างภูมิสูงขึ้นเร็ว เหมาะกับสถานการณ์ระบาดของไวรัสเดลตา มุ่งลดคนป่วยหนัก แนะใช้ในพื้นที่กทม.-ปริมณฑล-พื้นที่แดงเข้ม ก่อน 3 เดือน จี้ผู้มีอำนาจเร่งออกคำสั่ง
ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และแพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ ระบุเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 เรื่องวัคซีน โควิด19 ฉีดเข็มแรกซิโนแสค ตามด้วยเข็ม 2 แอสตร้าเซนเนก้า ใช้ได้ไหมกับใคร?
โดยระบุใจความว่าวันนี้ในกทม.และปริมณฑลถูกเชื้อไวรัสเดลต้าบุกทะลุทะลวงมาแรง จนผู้ติดเชื้อที่ป่วยหนักมีจำนวนมากขึ้น และเตียงในโรงพยาบาลในเขตนี้มีไม่พอที่จะรับไว้ ส่วนหมอพยาบาล รวมทั้งบุคลากรด่านหน้า ทำงานจนจะแบกรับภาระงานไม่ไหวแล้ว สถานการณ์แบบนี้ทำให้เราต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในแต่ละวันทั้งๆที่ข้อมูลวิชาการในด้านต่างๆยังมีไม่มากพอ แม้เราจะเร่งฉีดวัคซีนให้ครบ ทั้ง 2 เข็ม อย่างเต็มศักยภาพและสุดกำลัง ก็ดูเหมือนเรายังตามหลังการระบาดของเชื้อไวรัสเดลต้าอยู่ จนจำนวนผู้ป่วยหนักล้นเตียงล้นมือหมอ คำถามคือ ยังพอจะมีวิธีการอะไรอีกไหม ที่จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยหนัก ลงอย่างรวดเร็ว
คำตอบที่เสนอออกมาจากคณะกรรมการ คือ การ การฉีดวัคซีนแบบผสม สำหรับผมแล้วขอกล่าวถึงการฉีดแบบผสมวิธีเดียว คือฉีดวัคซีนโควิด19 เข็มแรกเป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็น แอสตร้าฯ ห่างกัน 3 สัปดาห์ ผมคิดว่าการฉีดแบบผสมนี้เป็นทางออกที่ดีในขณะนี้(นอกจากการฉีดซิโนแวค 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์หรือฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็มแต่ต้องฉีดห่างกัน 12 สัปดาห์) การฉีดแบบผสมนี้วัตถุประสงค์อย่างเดียว คือ ต้องการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่ป่วยหนัก จนต้องใช้เตียงในโรงพยาบาล ไม่ได้ออกแบบมา เพื่อลดการติดเชื้อนะครับ แต่เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่รุมเร้าจำนวนเตียง และภาระงานของหมอในเขตกทม.และปริมณฑลในขณะนี้
การฉีดวัคซีนโควิด19 เข็มแรกเป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าฯห่างกัน 3 สัปดาห์ เป็นขนาดของวัคซีนที่ผมยอมรับได้(แม้ยังมีข้อมูลน้อย) คือขนาดของวัคซีนยังไม่มากเกินไป จนอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือการแพ้ที่รุนแรงมากขึ้นกว่าการฉีดวัคซีนอื่นๆตามวิธีปกติได้ เหมือนกับการกินยาพาราเซตามอล 2 เม็ด ซึ่งอยู่ในขนาดยาที่เหมาะสม แต่ได้ยามาจากคนละบริษัท ฉีดแบบผสมนี้กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ฝได้สูงและเร็วกว่าการฉีดแบบปกติที่เรามีอยู่ ได้ภูมิคุ้มกันในระดับใกล้เคียงกับการฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็มหรือต่ำกว่าเล็กน้อย การแพ้วัคซีนชนิดที่รุนแรงและคุกคามถึงชีวิตไม่น่าจะมีมากกว่าการฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสเดลต้าในขณะนี้ ผมจึงสรุปว่าใช้ได้ไม่น่าจะขัดแย้งกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก(ฮู:WHO)หรือของใครนะครับ
แล้วจะใช้กับใครเมื่อไหร่ ผมขอให้ใช้ในกทม.และปริมณฑลก่อน หรือในพื้นที่สีแดงเข้มที่การระบาดของเชื้อไวรัสเดลต้ายังพุ่งไม่หยุด เพื่อทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงต้องเข้าโรงพยาบาลลดลง ขอใช้การฉีดแบบผสมนี้นาน 3 เดือน และติดตามผลการฉีดแบบผสมนี้ว่าลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่ป่วยรุนแรงลงได้จริงไหม และมีความปลอดภัยเท่าเทียมกับวิธีฉีดตามปกติหรือไม่คล้ายกับเป็นการทำวิจัยในระยะที่ 2-3 ที่ต้องวัดประสิทธิผลและติดตามความปลอดภัย เพื่อนำข้อมูลมาสรุปและเผยแพร่ให้ประชาคมโลกทราบทั่วกัน
ผู้มีอำนาจสั่งการตามกฎหมายให้ใช้วิธีนี้ได้ ต้องรีบตัดสินใจออกคำสั่งหรือประกาศว่าจะสั่งให้ใช้หรือไม่ เพราะกว่าจะเห็นผลจากการฉีดวัคซีนแบบผสมนี้ ต้องใช้เวลาอีก 1 เดือนครึ่ง ส่วนวิธีอื่นนอกจากนี้และเท่าที่เรามีวัคซีนอยู่ในวันนี้ ก็มีการฉีดวัคซีน แอสตร้าฯเป็นเข็มแรกไปก่อน(มีวิธีฉีดที่เร่งการสร้างภูมิคุ้มกันแต่ขอไม่กล่าวถึง)
ผมจึงสรุปจากความคิดเห็นของผมว่า ผู้มีอำนาจสั่งการตามกฎหมายให้ใช้วิธีนี้ได้ต้องรีบตัดสินใจสั่งให้ใช้การฉีดวัคซีนแบบผสมนี้ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในกทม.และปริมณฑล จนกว่าจะควบคุมการระบาดจากเชื้อไวรัสเดลต้าได้ พื้นที่อื่นที่ไม่ได้เป็นสีแดงยังไม่ต้องใช้วิธีฉีดแบบผสมนี้ เมื่อได้ข้อมูลอีก 3 เดือนข้างหน้า ทั่วโลกคงจะทราบได้ว่าการฉีดวัคซีนแบบผสมนี้ใช้ได้จริงหรือไม่ในการลดความรุนแรงของโรค หรือว่าไม่ต้องใช้อีกเลยเพราะได้ผลดีเท่ากับวิธีปกติที่ใช้กันอยู่แล้ว
แต่ขอฝากทิ้งท้ายไว้กับทุกท่านที่ยังรีรอว่าจะฉีดวัคซีนดีหรือไม่เพราะท่านที่คิดแบบนี้เหลือน้อยมากแล้ว ตัดสินใจรีบไปฉีดวัคซีนโดยเร็วอย่ามัวรีรออยู่เลยครับ