16 องค์กรทิพย์? ลุยยื่นสอบ 152 องค์กรผู้บริโภค ตั้งสภาฯ หวั่นรุมทึ้งงบปีละ 350 ล้าน
ยื่นกระทรวงยุติธรรม สอบ 152 องค์กรผู้บริโภค แจ้งชื่อขอจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค หลังสุ่มตรวจพบ 16 รายชื่อ ส่อองค์กรทิพย์ไม่มีอยู่จริง หวั่นรุมทึ้งงบจากรัฐ ปีละ 350 ล้าน หวังดีเอสไอเข้าจัดการ
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางไปยื่นคำร้องต่อ รมว.ยุติธรรม เพื่อขอให้ตรวจสอบการเข้าชื่อของ 152 องค์กรผู้บริโภค ร่วมจัดตั้งเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยพบหลายองค์กรมีลักษณะ จัดตั้งขึ้นมาลอยๆ เพื่อให้ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค
โดยการพูดคุยกับผู้นำท้องถิ่น พบ 16 องค์กร ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีการทำกิจกรรมตามที่จดแจ้ง ชาวบ้านในพื้นที่ไม่รู้จัก ซ้ำร้ายการแจ้งที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร์ก็ไม่มีในสารบบ ชื่อคนที่อ้างว่าเป็นประธานเครือข่ายก็ไม่อยู่ในพื้นที่ ถือได้ว่ามีคุณลักษณะไม่เป็นไปตาม ม.6 ประกอบ ม.5 ของกฎหมาย
ทั้งนี้ ม.5 แห่งพ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค 2562 กำหนดให้ สิทธิเข้าชื่อ เป็นผู้เริ่มก่อการ จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค มาจากองค์กรผู้บริโภคนั้นๆ ที่จะต้องดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภค “เป็นที่ประจักษ์” ไม่น้อยกว่า 2 ปี
นายศรีสุวรรณ ระบุ จาก 152 องค์กรผู้บริโภคที่ร่วมกันยื่นต่อ สปน. แต่เมื่อสุ่มตรวจก็พบว่า 16 องค์กร ไม่มีตัวตน เมื่อมีการจัดตั้งสภาองค์กรฯแล้ว รัฐซึ่งต้องจัดสรรงบประมาณให้ปีละ 350 ล้านบาท ก็ควรมีความโปร่งใส
ตนคาดหวังว่า เจ้ากระทรวงฯ จะส่งเรื่องให้ ดีเอสไอ เข้าตรวจสอบความตัวตนขององค์กรผู้บริโภคทั้งหลาย ที่เข้าร่วมแจ้งชื่อ เพราะการทำงานของสภาองค์กรฯดังกล่าว มีความเกี่ยวพันกับการใช้เงินที่มาจากภาษีของประชาชน
จากบทความของ ดร.สลิลธร ทองมีนสุข นักวิชาการ จากทีดีอาร์ไอ ชี้ว่า สำหรับประเทศไทย ปัญหาสิทธิผู้บริโภค ที่ยังปรากฎให้เห็นอยู่เสมอ ยังเป็นปัญหาส่วนบุคคล เช่น การอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง รถสาธารณะไม่ได้มาตรฐาน ค่าใช้จ่าย ด้านบริการสุขภาพ สาธารณสุขที่สูงเกินควร เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ปัญหาของผู้บริโภค อีกหลายเรื่อง อยู่นอกเหนือ ขอบเขตของอำนาจ หน้าที่ที่จะดูแลได้ เช่น การกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า ค่าทางด่วน ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐอื่น หรืออยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานระหว่างรัฐกับเอกชน
สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงเป็นตัวแทนของผู้บริโภคโดยตรงในการดำเนินการเรื่องต่างๆ ทั้งการเฝ้าระวัง ไกล่เกลี่ยฟ้องคดีแทน รวมถึงการเสนอนโยบาย ต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคมีความเข้มแข็งและให้การดำเนินคดีต่างๆ สะดวกยิ่งขึ้น