ทำไม ‘มาเลเซีย’ ไม่รีบอนุมัติ 'ยาไอเวอร์เม็กติน' รักษาโควิด
ยาไอเวอร์เม็กติน (Ivermectin) ซึ่งใช้ในการรักษาพยาธิมาโดยตลอด เริ่มได้รับความสนใจ และถูกเรียกร้องให้ใช้รักษาโรคโควิด-19 หลังจากมีการอ้างผลศึกษาประสิทธิยาชนิดนี้ แต่กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย เชื่อยาใช้รักษาภายนอกเท่านั้น
ดร.เวลลายัน ซูบรามาเนียม สัตวแพทย์และอดีตรองผู้อำนวยการสวนสัตว์แห่งชาติของมาเลเซีย กล่าวว่า ยาไอเวอร์เม็กตินถูกค้นพบครั้งแรกในปี 2513 เริ่มนิยมใช้กันมากขึ้นไปถึงช่วงต้นปี 2523 โดยยานี้ถูกใช้ครั้งแรกในฟาร์มปศุสัตว์ และต่อมาก็ขยายใช้รักษาม้า จากนั้นก็เป็นสัตว์เลี้ยง
ดร.ซูบรามาเนียม กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ยาจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ แม้กระทั่งใช้ยารักษาข้ามสายพันธุ์จากสัตว์สู่คน
"แต่นี่คือ สิ่งที่เรียกว่า การใช้นอกฉลาก เมื่อเราใช้ยาไอเวอร์เม็กติน เพื่อรักษาอาการติดเชื้อในมนุษย์ เช่น โรคเท้าช้างที่เกิดจากการติดเชื้อจากหนอง" อดีตรองผู้อำนวยการสวนสัตว์มาเลเซียระบุ และกล่าวว่า เรายังใช้รักษาปรสิตภายในนอก (ectoparasites) ซึ่งหมายถึงพยาธิที่อาศัยอยู่บนพื้นผิวร่างกายของมนุษย์ โดยใช้ยาไอเวอร์เม็กตินเป็นวิธีแก้ปัญหาเฉพาะที่ ดังนั้น เป็นไปไม่ได้ที่นักวิจัยในห้องปฏิบัติการจะค้นพบยาไอเวอร์เม็กติน เพื่อใช้รักษาโรคระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน
กระแสความสนใจยาไอเวอร์เม็กติน เกิดขึ้นหลังจากที่มีรายงานเมื่อเดือน เม.ย.2563 อ้างผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยโมนาช ของออสเตรเลียทดลองยาชนิดนี้ และสามารถยับยั้งโควิด-19 จากการเพาะเลี้ยงเซลล์ภายใน 48 ชั่วโมง
กลุ่มพันธมิตรทางการแพทย์และผู้บริโภคที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มพันธมิตรเพื่อการควบคุมโควิด-19 ของมาเลเซีย (MAECC) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลได้กำหนดยาไอเวอร์เม็กตินไว้ในบัญชียาที่ใช้รักษาไวรัสโคโรน่า
ก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซีย เผยเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ว่า ได้เริ่มการทดลองใช้ยาไอเวอร์เม็กตินแล้ว การทดลองเหล่านี้จะดำเนินการโดยสถาบันวิจัยทางคลินิก (ICR) ของโรงพยาบาลภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 12 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ความสนใจเกี่ยวกับยาไอเวอร์เม็กตินไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในมาเลเซีย เท่านั้น แต่มีขึ้นในอินโดนีเซียด้วย มีรายงานว่า มีการกว้านซื้อยาไอเวอร์เม็กตินจนเกลี้ยงร้านขายยา หลังจากปรากฏโพสต์บนโซเชียลที่พูดถึงประสิทธิภาพของยาชนิดนี้ที่สามารถรักษาโรคโควิด-19 ได้