3-4 เดือน ’อันตราย’ ตายพุ่ง สธ.ยกเหตุผล เข้ม ’ล็อกดาวน์’
สธ. ขอความร่วมมือ เข้มมาตรการ 'ล็อกดาวน์' งดเดินทางข้ามจังหวัด รวมกลุ่มทานอาหาร เว้นระยะห่าง ล้างมือ ป้องกันติดเชื้อในบ้าน ชุมชน หวั่นติดเชื้อโควิด ตายพุ่งสูง ใน 3-4 เดือน
วันนี้ (17 ก.ค. 64) ที่กระทรวงสาธารณสุข “นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในงานแถลงข่าวสถานการณ์และมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ ทั่วโลกยังพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะจากการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้าในหลายประเทศ ขณะนี้ พบมากกว่า 111 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้มีผู้ป่วย เสียชีวิตจำนวนมาก โดเฉพาะผู้สูงวัยและโรคประจำตัว ประเทศไทย พบจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต ขยายวงกว้างและสูงมาก จนส่งผลกระทบต่อการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งพื้นที่ กทม. และปริมณฑล รวมถึง ต่างจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเดินทางกลับภูมิลำเนา
"วันนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,082 รายเสียชีวิต 141 ราย ส่วนใหญ่มากกว่า 70% เป็นผู้สูงอายุ และโรคประจำตัวเรื้อรัง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการติดเชื้อขณะนี้ แตกต่างจากก่อนหน้านี้มาก เพราะพบการระบาดแพร่เชื้อในครอบครัว คนรู้จัก เพื่อนบ้าน ติดไปถึงผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวในบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงทำให้การป่วยเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิต"
"จนถึงวันนี้ยังมีการลักลอบเล่นการพนัน จัดปารตี้ รวมกลุ่มเพื่อนที่บ้าน และนอกบ้าน เป็นความเสี่ยงที่ทำให้การแพร่ระบาดไม่ลดลง ต้องขอบคุณความร่วมมือภาคส่วน หน่วยงาน และองค์กร รวมถึงพี่น้องประชาชนทุกคน ที่ยังให้ความร่วมมือเป็นส่วนใหญ่"
- ลดความเสี่ยงนำเชื้อเข้าบ้าน
ถึงเวลาที่ทุกครอบครัว จำเป็นต้องปกป้องคนที่ท่านรักโดยตัวของท่านเอง โดยความร่วมมือของทุกฝ่าย งดอออกจากบ้าน ทำงานที่บ้านให้มากที่สุด หรือ Work from home ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อนอกบ้านและไม่แพร่เชื้อให้กับผู้อื่นต่อ ทั้งนี้ เวลาอยู่บ้านต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ทานอาหารแยกกัน ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่จับร่วมกันบ่อยๆ เช่น ตู้เย็น ลูกบิดประตู ราวบันได โต๊ะอาหาร เป็นต้น
“เราทุกคนต้องช่วยกันปกป้อง ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังในบ้านของเรา หากพบเชื้อจะได้ลดอาการที่รุนแรงและเสียชีวิต จำเป็นต้องพาผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ไปรับฉีดวัคซีน ซึ่งในขณะนี้ กทม. และปริมณฑล ได้เตรียมพื้นที่และรับวัคซีนเพื่อฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงจำนวนมากในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ในหลายจุด"
- ภาคกลาง ตะวันออก ยังระบาดในสถานประกอบการ
ทั้งนี้ ในภาคกลาง ตะวันออก ยังพบการระบาดในโรงงาน และสถานประกอบการ ผู้ประกอบการต้องร่วมมือกันกับคนงาน เพื่อลดการติดเชื้อในโรงงานซึ่งมีจำนวนมาก มีการแพร่เชื้อกระจายไปยังชุมชนรอบๆ ทำให้ต้องมีมาตรการที่เคร่งครัด บับเบิ้ล แอนด์ ซิล คือการอยู่ในสถานประกอบการหรือที่พักเท่านั้น ทั้งการเดินทางจะต้องไม่แวะจุดต่างๆ การอยู่ในสถานประกอบการต้องมีการกำกับอย่างต่อเนื่อง
- อีสาน เหนือ เชื้อกระจายจากกทม.
ส่วนสถานการณ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคเหนือ ซึ่งพบผู้ติดเชื้อเดินทางกลับจากกทม. ปริมณฑลจำนวนมาก ทำให้ รพ. ต้องรับผู้ป่วยมากขึ้นอย่างรวดเร็วในสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องขอความร่วมมือทุกท่าน งดเดินทางข้ามจังหวัด และเพิ่มการดูแลรักษาผู้ที่ไม่มีอาการน้อย หรืออาการน้อย ให้ดูแลรักษาที่บ้านหรือ กักตัวในชุมชน ซึ่งขณะนี้ มีความร่วมมือโดยหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะในกทม. หลายหน่วยงาน ได้เริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว
- 'เข้มมาตรการ' หวั่นยอดติดเชื้อ เสียชีวิตพุ่งใน 3-4 เดือน
จากสถานการณ์ในตอนนี้ คาดการณ์ว่า หากยังไม่ทำอะไรที่เพิ่มเติมกว่านี้จะทำให้ผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต จำนวนมากไปอีกอย่างน้อย 3-4 เดือน ทำให้ต้องมีการยกระดับมาตรการเพื่อป้องกันควบคุมโรค โดยเฉพาะการจำกัดการเดินทาง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการลดการแพร่ระบาด นอกจากนี้ ต้องเคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล และเร่งรัดความครอบคลุมการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการป่วยหนัก และเสียชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
ความร่วมมือของพี่น้องประชาชนทุกท่าน เป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังมีระดับสูงมาก กลับมาดีขึ้นในเร็ววัน ท้ายนี้ ขอเรียนว่า ขณะนี้ความร่วมมือของพี่น้องประชาชนทุกท่าน มีส่วนสำคัญยิ่ง ในการลดการเสียชีวิตของกลุ่มเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เรารักในครอบครัว จำเป็นจะต้องมีมาตรการส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีมาตรการเพิ่มเติมและจะมีการแถลงข่าวในลำดับต่อไป