ไทย..อยู่ตรงไหน? กับการพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจ สปป.ลาว
โอกาสไทยใน สสป. ลาว เมื่อยุทธศาสตร์ลาวเปลี่ยนเป็น “จุดเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน”
จากประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเล มาเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางบก จากหนึ่งเดียวในอาเซียนที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล (Land Lock) สู่การเป็น Land Link เชื่อมโยง 5 ประเทศ สสป.ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม และจีน เข้าด้วยกัน เป็นการเปิดประตูเชื่อมโยงการคมนาคม การขนส่ง และธุรกิจการค้าภูมิภาค กับเศรษฐกิจโลก
“แล้วไทยจะอยู่ตรงไหนกับการพัฒนานี้” ความร่วมมือร่วมพัฒนา คือ ช่องทาง จับจุดความต้องการของตลาดจีน ศึกษาหาคำตอบ โอกาสสินค้าฮาลาลไทย กับเส้นทางตลาดมหึมาชาวมุสลิมตะวันตกของจีน และโอกาสการลงทุน 9 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่รัฐบาลลาวสนับสนุนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับใหม่
นายเจษฎา กตเวทิน เอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เปิดเผยในระหว่างการเสวนาในหัวข้อ "โฟกัส ธุรกิจและโอกาสการค้า การลงทุน และระบบโลจิสติกส์ ใน สปป.ลาว” ในรายการ IBERD Live EP#15 ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) ว่า โอกาสทางธุรกิจของ สปป.ลาว หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายธุรกิจจะกระเตื่องขึ้นเพราะมีทรัพยากรธรรมชาติมาก มีการลงทุนจากประเทศจีน
ในอุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร การปศุสัตว์ โดยเฉพาะพื้นที่ทางภาคใต้แหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของ สปป.ลาว
จากตัวเลขของ World Bank หากเหตุการณ์โควิดคลี่คลาย สปป.ลาว GDP จะฟื้นตัวร้อยละ 4 - 4.5 และหากควบคุมสถานการณ์ได้เร็ว ตัวเลขบวกทาง GDP จะปรากฏ สำหรับธุรกิจการลงทุนใน สปป.ลาว ที่น่าสนใจที่ทางการส่งเสริมการลงทุน มี 9 สาขา ได้แก่ 1) ธุรกิจที่ให้บริการด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง และทันสมัยใหม่ การวิจัยวิทยาศาสตร์ การค้นคว้าและการพัฒนาด้านการผลิต การใช้นวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2)เกษตรอินทรีย์
3) ในด้านอุตสาหกรรมก็จะมีจำพวกการแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4)การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ธรรมชาติ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ 5) ด้านการศึกษา กีฬา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และฝีมือแรงงาน 6) ด้านสาธารณสุขคือการสร้างโรงพยาบาลที่ทันสมัย โรงงานผลิตยาและอุปกรณ์การแพทย์ 7) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 8) ธนาคารและสถาบันการเงินจุลภาค
และ 9) กิจการศูนย์การค้าทันสมัยที่ส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ รวมไปถึงศูนย์จัดแสดงและตลาดนัดผลิตภัณฑ์ภายในประเทศด้านอุตสาหกรรม หัตถกรรม และเกษตรกรรม เหล่านี้ล้วนเป็นช่องทางการลงทุนที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้สูงในการประสบความสำเร็จใน สปป. ลาว
“จีนถือเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก สิ่งที่ไทยควรมองจีนใน สปป.ลาว คือ สร้างความร่วมมือกัน การพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นสิ่งที่สำคัญ จีนเองก็ต้องอาศัยความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ทั้งโลกเพื่อการพัฒนา ซึ่งจีนจะอยู่ลำพังไม่ได้แม้จะเก่งกล้าสามารถอย่างไรนั้นก็อยู่ไม่ได้ในยุคปัจจุบัน ตรงนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่สำคัญ ซึ่งประเทศไทยมี know-how จีนโตเร็วและเป็นตลาดใหญ่มีกำลังซื้อมาก ถ้าจับจุดได้ว่าอะไรคือสิ่งที่จีนต้องการและจีนไม่ผลิตเอง อันนั้นแหละจะเป็นคำตอบ” นายเจษฎา กตเวทิน กล่าว
เอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าธุรกิจหนึ่งที่อาจจะยังไม่ทราบมาก่อนคือ โอกาสของสินค้าฮาลาล ส่วนใหญ่จะลืมไปว่าทางรถไฟ ลาว-จีน ไปถึงคุณหมิง ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ
ภาคตะวันตกของจีนที่มีคนมุสลิมมากที่สุดความต้องการฮาลาลจะมีมาก เดิมไทยส่งไปเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง ที่ภูมิภาคนี้ของจีนจะเป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่มากสามารถรองรับ และไม่ใช่เฉพาะอุตสาหกรรมอาหารเท่านั้นเครื่องสำอางฮาลาลก็เป็นโอกาส ที่ผ่านมายังมองไม่ถึงว่าเครื่องสำอางต้องทำมาจากอะไรสำหรับชาวมุสลิม ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรเข้าไปศึกษา
และไม่ใช่เฉพาะรถไฟที่ สปป.ลาว มีการพัฒนา ล่าสุดมีการลงนามการเข้าไปใช้สิทธิ์ในการ Deep Sea Port ในเวียดนาม ซึ่งอยู่ทางหวุงอ๋าง เป็นท่าเรือน้ำลึกตรงกลางของเวียดนาม โดยเข้าไปเป็น Ownership ถือกรรมสิทธิ์ถึง 60 % ซึ่งต่อไปนี้ สปป.ลาว จะมีทางออกทะเลของตัวเอง ซึ่งเป็นท่าเรือที่เรือขนาด 1 แสนกรอสตัน สามารถเทียบ
ท่าได้ ขณะเดียวกันก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการระบายสินค้าของไทยทางภาคอีสาน โดยออกทางสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่จังหวัดนครพนม แล้วต่อไปทางเส้น R-12 ตรงไปถึงที่ท่าเรือได้เลย ซึ่งปัจจุบันเส้นทางนี้ใช้ขนส่งทุเรียน และผลไม้ของไทยเข้าเวียดนามและขึ้นเหนือไปยังกวางสี ซึ่งเป็นศูนย์กลางค้าผักผลไม้ของประเทศจีนที่กระจายออกไปสู่อีกหลายมณฑล ขณะที่ภายใน สปป.ลาว ถนนจากเวียงจันทน์ลงมาทางใต้ ถึง เมืองปากเซชายแดนติดกัมพูชา และศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยเข้าไปลงทุนปลูกกาแฟ ปลูกข้าวโพด ตลอดถึงมันสำปะหลัง ไทยก็สามารถใช้ช่องส่งออกทางจังหวัดอุบลราชธานีเข้าสู่เมืองปากเซ สปป.ลาว ได้เช่นกัน การขนส่งสินค้าทั้งลาวใต้ และไทยไปยังตลาดประเทศจีนก็จะสะดวกมากยิ่งขึ้น
“นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเส้นทางเวียงจันทน์ ฮานอย เชื่อมระหว่าง สปป.ลาว กับทางเหนือของเวียดนาม ก็จะเป็นอีกโครงการที่จะเข้ามา ซึ่งจะเห็นได้ว่าโครงข่ายเหล่านี้จะเป็นตารางเหมือนใยแมงมุมที่ทำให้ สปป.ลาว จากLand Lock มาเป็น Land Link อย่างแท้จริง ก็เป็นโอกาสการขนส่งทางบกไปยังตลาดใหญ่คือจีน สรุปแล้วภาพการค้าการลงทุนกับ สปป. ลาว ณ วันนี้กับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป็นคนละภาพกันโดยสิ้นเชิง” นายเจษฎา กตเวทิน กล่าว
ในสภาวการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงทั้งทางด้านสาธารณสุข และการหดตัวของเศรษฐกิจเช่นนี้ ผู้ประกอบการไทยจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรติดตามพัฒนาการของตลาดเพื่อนบ้านอย่าง สปป. ลาว เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงทุน หรือประกอบธุรกิจภายหลังสถานการณ์
โควิด-19 คลี่คลายลง
สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดตามรับฟังในรายการ “IBERD Live Business and Economic Conference” EP#15ย้อนหลัง ทางเวปไซต์สถาบันวิจัยและพัฒนาการเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) www.iberdthailand.com และ Facebook: IBERDTHAILAND https://fb.watch/v/1HkJLRznU/ ดำเนินรายการโดย ดร.ศิริเดช คําสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี ผอ. หลักสูตรการบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
สำหรับ สถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2552 ปัจจุบัน
ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา เป็นประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระไม่แสวงหากําไร มีแนวทางและความมุ่งมั่นในการพัฒนาด้านความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและธุรกิจในเวทีต่างประเทศ ด้วยการสร้างงานวิจัยเชิงนโยบายการริเริ่มโครงการพัฒนาขีดความสามารถศักยภาพการแข่งขัน และการสร้างโอกาสทางธุรกิจการลงทุนใหม่ๆ สู้นานาประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV และภูมิภาค AEC รวมทั้ง จีน อินเดีย และยุโรป