ส่องโอกาสเด็กไทยฉีด'วัคซีนโควิด19'
เดิมที่ประเทศไทยจัดหาวัคซีนโควิด19 ชนิด mRNA ของไฟเซอร์ 20 ล้านโดสมาใช้สำหรับฉีดให้เด็กไทยที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป หรืออยู่ในช่วงวัยรุ่น เพราะยังเป็นวัคซีนตัวเดียวที่มีการทดลองประสิทธิภาพในคนกลุ่มนี้และมีการขึ้นทะเบียนให้ใช้แล้วในอเมริกา
แต่เมื่อสถานการณ์พลิก เกิดการระบาดรุนแรงในไทยด้วยสายพันธุ์กลายพันธุ์ และมีรายงานเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในเด็กโดยเฉพาะเพศชายที่ฉีดวัคซีนนี้เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาใหม่อีกครั้ง
ไทยฉีดวัคซีนแล้ว
ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้พ่อแม่มีความกังวลมาก เพราะมีการติดเชื้อในโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งบางกรณีเด็กติดโดยที่พ่อแม่ไม่ติด หรือติดแล้วกลับมาที่บ้านแพร่เชื้อให้พ่อแม่ด้วย หรือพ่อแม่ติดแล้วแพร่ให้ลูกและพาไปติดที่โรงเรียน ซึ่งเวลาที่เด็กติดเชื้อจะดูแลค่อนข้างยาก โดยเฉพาะเมื่อเด็กติดแล้วแต่พ่อแม่ยังไม่ติด ต้องแยกเด็กไปนอนรพ.หรือฮอสพิเทล ถ้าเป็นเด็กเล็กจะไปไม่ได้ต้องมีพ่อแม่ไปด้วย แต่ข้อได้เปรียบของเด็ก คือโดยปกติเมื่อเด็กติดเชื้อ จะไม่ค่อยมีอาการรุนแรงไม่เหมือนผู้ใหญ่ติดเชื้อ และติดยากกว่าผู้ใหญ่
กรณีมาเจอโควิด19สายพันธุ์เดลตา จะเห็นว่ามีการติดเชื้อในเด็กมากขึ้นจริงๆ แต่ถึงแม้ว่าเด็กจะมีอาการไม่ค่อยมาก แต่จะมีกลุ่มอาการเหมือนโรคคาวาซากิ ซึ่งบางทีอาจจะรุนแรงได้ในเด็ก ไม่ได้เกิดทันทีที่ติด โดยส่วนใหญ่เกิดตามหลังการติดโควิด19ไม่เกิน 1 เดือน เพราะฉะนั้น ความปรารถนาที่จะให้เด็กได้รับการป้องกันสูงมากในกลุ่มพ่อแม่ แต่ปัญหาคือวัคซีนที่มีขณะนี้ มีเพียงยี่ห้อเดียวคือยี่ห้อไฟเซอร์ ซึ่งได้รับการรับรองในต่างประเทศที่ให้ใช้ในเด็กได้ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป คาดว่าในเร็วๆนี้วัคซีนโมเดอร์นาก็จะได้รับการรับรองให้ใช้ในเด็ก 12 ปีขึ้นไปเช่นกัน อีกวัคซีนซึ่งมีการศึกษาแล้วว่าใช้ในเด็กแล้วมีความปลอดภัย คือ ซิโนแวค ที่ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 3ขวบขึ้นไป โดยใช้ปริมาณครึ่งโดสของผู้ใหญ่ แต่ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ มาเหมือนวัคซีนไฟเซอร์ที่มีการรับรองและใช้ในวงกว้างให้ฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้
ถอดบทเรียนวัคซีนเด็กในต่างประเทศ
สำหรับประเทศไทย วัคซีนไฟเซอร์มีการขึ้นทะเบียนแล้ว แต่ยังไม่มีการนำมาใช้และคาดว่าจะมีใช้ในเร็วๆนี้ จึงมีการถอดบทเรียนในต่างประเทศที่มีการใช้ไฟเซอร์มานาน ยกตัวอย่างเช่น อเมริกาและยุโรป โดยอเมริกาออกคำแนะนำให้ฉีดเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป อิสราแอลก็เช่นกัน ส่วนยุโรปหลายประเทศชักเริ่มถอย บางประเทศบอกว่าให้ฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปเฉพาะกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงค่อนข้างสูง เช่น มีโรคประจำตัว สาเหตุเพราะเรื่องเดียว คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งมาพบว่าเมื่อฉีดไปแล้วในเข็มที่ 2 ในเด็ก ส่วนใหญ่เด็กผู้ชายเกิดขึ้นหลังฉีดเข็มที่ 2 พบโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ประมาณ 1 ใน 5 หมื่น ถึง 1 ในหลายๆแสน อัตราสูงสุดในช่วงอายุน้อยๆในเข็มที่2 คือ 1 ใน 5 หมื่น
เขาจึงมีความกังวลใจว่าเด็กเหล่านี้ มีโอกาสติดเชื้อได้แต่ไม่ค่อยรุนแรง แต่ขณะที่เป็น
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบส่วนใหญ่ก็ไม่รุนแรงเช่นกัน ส่วนใหญ่กินยาแก้อักเสบต่างๆก็หายแล้ว กลับบ้านได้ แต่มีบางรายต้องนอนไอซียู หลายแห่งจึงบอกว่า “คุ้มหรือไม่” จึงต้องชั่งน้ำหนัก ในหลายประเทศจึงให้ดูก่อนว่าคุ้ม ในประเทศอเมริกชั่งน้ำหนักแล้วแนะนำให้ฉีด แต่ต้องอธิบายพ่อแม่ว่ามีความเสี่ยง โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย อายุไม่มาก
เด็กไทยควรฉีดหรือไม่
ในประเทศไทย ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ได้มีการหารือกัน ถ้ามีวัคซีนไฟเซอร์จะแนะนำให้ฉีดอายุ 12ปีขึ้นไป เหมือนฝั่งอเมริกาและอิสราเอลหรือไม่ ก็ต้องชั่งน้ำหนักหเช่นกัน แต่ตอนนี้สถานการณ์ประเทศไทยต้องเร่งฉีดเข็ม 1 และเข็ม 2 ให้กับประชาชนทั่วไปผู้ใหญ่ ผู้เสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ ผู้มี 7 กลุ่มโรคเรื้อรังและหญิงตั้งครรภ์ก่อน กว่าจะฉีดกลุ่มเหล่านี้แล้วเสร็จคงหลายเดือน ก็จะทำให้ได้ข้อมูลมากขึ้นว่าความปลอดภัยของวัคซีนไฟเซอร์ที่จะมาฉีดในเด็กวัยรุ่นฝั่งเอเชียเป็นอย่างไร
เพราะต้องไม่ลืมว่า โรคที่เกิดตามหลังการฉีดวัคซีนแต่ละภาวะอาจจะมีความแตกต่างกันในหลายเชื้อชาติ เช่น ภาวะลิ่มเลือดที่พบหลังฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ ของคนเอเชียเจอน้อยมาก ของประเทศไทยมีรายงาน 1 ราย คิดเป็นอัตราประมาณ 1 ใน 5-6 ล้านโดส และไม่ได้รุนแรงเท่ายุโรป เพราะฉะนั้นข้อมูลต่างๆเหล่านี้ต้องจับตามองและเก็บข้อมูล ซึ่งหลายประเทศมีการใช้วัคซีนไฟเซอร์ไปก่อน แล้วจะมาให้คำแนะนำต่อไปว่าวัยรุ่นไทยควรได้หรือไม่ได้ ตอนนี้อยากเน้นให้ผู้ใหญ่รอบตัวเด็กฉีดก่อน
ส่วนวัคซีนซิโนแวคที่ว่ามีข้อมูลในเด็กเล็กด้วย อาจจะเป็นทางเลือกที่ดี แต่อาจจะไม่ใช่ตอนนี้ เพราะขณะนี้มีสายพันธุ์เดลตาระบาด ซึ่งมีความดื้อวัคซีนค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้น พอฉีดแล้ว 2 เข็ม ยังป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตได้ดี แต่ป้องกันการป่วยเบาและป่วยทั่วไปได้น้อยลง ขณะที่เด็กเมื่อติดเชื้อก็ป่วยเบาๆอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ความจำเป็นฉีดวัคซีนซิโนแวคในเด็กเล็กจึงน้อยลงไปอีก ยกเว้น ซิโนแวคจะเปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่ที่สามารถจัดการเชื้อกลายพันธุ์ได้ดี อาจจะทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันติดเชื้อเบาและไม่เบาดีขึ้น เพราะฉะนั้นในเด็กตอนนี้ ไม่ใช่หัวใจสำคัญในการฉีดวัคซีนขณะนี้ หัวใจสำคัญยังเป็นผู้สูงอายุ ผู้มีโรคร่วมและผู้ใหญ่ทั่วไปก่อน
ดูแลเด็กอย่างไร ในช่วงโควิด19ระบาด
ขณะที่เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2564 รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ออกคำแนะนำ ดูแลเด็กอย่างไร ในช่วงโควิด19ระบาด โดยอ้างอิงที่มาจาก อ. ดร. พญ.วรรษมน จันทรเบญจกุล กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ ระบุว่า
เด็กสามารถติดโรคโควิด19 ได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ซึ่งมักติดเชื้อมาจากคนใกล้ชิด โดยเฉพาะคนในครอบครัว ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคโควิด19 ที่มีในประเทศไทย ยังไม่สามารถใช้ได้ในเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี ดังนั้น การป้องกันการติดเชื้อในเด็ก ครอบครัวต้องมีการป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ดูแลเด็กเสี่ยงติดเชื้อและเด็กติดเชื้อโรคโควิด 19 ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดที่คลอดจากมารดาติดเชื้อ จนถึงเด็กอายุ 15 ปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 8 ของผู้ติดเชื้อโรคโควิด19 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 86 ของเด็กติดเชื้อทั้งหมด) ติดเชื้อจากคนในครอบครัว ส่วนใหญ่มีอาการเหมือนไข้หวัดทั่วไปเด็กที่มีอาการรุนแรง มักเป็นเด็กที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ
การป้องการติดเชื้อโรคโควิด19 ในเด็ก
เด็กอายุมากกว่า 2 ปี สามารถสวมหน้ากากอนามัยได้ และเน้นให้อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ต้องให้คนรอบข้างสวมหน้ากากอนามัยอย่างสม่ำเสมอ และหากมีอาการเจ็บป่วย ควรหลีกเลี่ยงที่จะใกล้ชิดกับเด็ก
การป้องกันเด็กติดเชื้อโรคโควิด-19 แบบ Cocoon strategy (ฉีดวัคซีนให้คนรอบข้าง)
เนื่องจากขณะนี้ไม่สามารถฉีดวัคซีนในเด็กได้ จึงมีความจำเป็นต้องฉีดให้กับสมาชิกคนอื่นในครอบครัว หรือคนรอบข้างคนอื่น ๆ เช่น ครูพี่เลี้ยงเด็ก เพื่อที่จะลดโอกาสติดเชื้อ และแพร่กระจายเชื้อมาสู่เด็ก
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เป็นประโยชน์ต่อตนเอง คนในครอบครัว และสังคม เพราะจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ โดยจะต้องฉีดให้ครอบคลุมประชาชนให้มากที่สุด เพื่อหยุดยั้งการระบาด การกลายพันธุ์ และลดการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น
กทม.เปิดศูนย์พักคอยเด็ก
กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ หรือ Community Isolation เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีผลตรวจรับรองว่าติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต โดยแยกผู้ป่วยออกมาจากบ้านมายังศูนย์พักคอย เพื่อคัดกรองอาการและดูแลในเบื้องต้น รอการส่งต่อไปรักษา ณ สถานพยาบาลที่เหมาะสม ลดปัญหาการแพร่ระบาดและติดเชื้อของคนในครอบครัวและชุมชน สำหรับการจัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อนั้น กรุงเทพมหานครได้พิจารณาคำนึงถึงความเหมาะสมของสถานที่ ความสะดวกในการเดินทางเข้า-ออก หากมีผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยปรับปรุงสถานที่ให้มีความเหมาะสมมีองค์ประกอบครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขอนามัย จุดคัดกรองผู้ป่วย จุดวัดอุณหภูมิและวัดค่าออกซิเจน จุดบริการอาหารและน้ำดื่ม ติดตั้งเตียงจัดวางที่นอน ตรวจสอบและติดตั้งระบบไฟฟ้าเพิ่มเติม ระบบเสียงตามสาย ระบบรักษาความปลอดภัย CCTV ระบบอินเตอร์เน็ต ติดตั้งพัดลม ฉีดพ่นยากำจัดยุงลาย ทำความสะอาดห้องน้ำและห้องสุขา ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดขยะทั่วไปและขยะติดเชื้อ ตลอดจนสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุด รวมทั้งเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่เทศกิจและประสานสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ร่วมดูแลความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยมีทีมแพทย์จากโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครและศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นผู้บริหารจัดการผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน โดยเฉพาะครอบครัวที่พ่อแม่ติดเชื้อโควิด-19 อาจจะทำให้ลูกติดเชื้อตามไปด้วย หรือกรณีที่ลูกติดเชื้อโควิด-19 แต่พ่อแม่ไม่ติดเชื้อ ทำให้ต้องแยกผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในสถานพยาบาล เพื่อเป็นการบรรเทาและแก้ไขปัญหา รวมถึงลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของคนในครอบครัว กรุงเทพมหานคร จึงได้จัดตั้งศูนย์พักคอยสำหรับเด็กเพื่อส่งต่อ บริเวณศูนย์สร้างสุขทุกวัยเกียกกาย เขตดุสิต โดยปรับปรุงพื้นที่ชั้น 3 จัดทำเป็นสถานที่ดูแลผู้ป่วยเด็กตั้งแต่อายุ 3-14 ปี สามารถรองรับผู้ป่วยเด็กได้ 52 เตียง แบ่งเป็นชาย 26 เตียง และหญิง 26 เตียง แบ่งแยกพื้นที่เป็นสัดส่วนเรียบร้อย ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายความวิตกกังวลของพ่อแม่ในการดูแลลูก ลดความกดดันของเด็กที่ต้องแยกกักตัวจากพ่อแม่ โดยที่ศูนย์พักคอยสำหรับเด็กแห่งนี้ จะมีกิจกรรมและของเล่นตามช่วงวัย เพื่อให้เด็กได้มีกิจกรรมผ่อนคลายในช่วงที่ต้องอยู่ห่างจากพ่อแม่ โดยมีทีมแพทย์จากวชิรพยาบาล เป็นผู้บริหารจัดการผู้ป่วยเด็ก รวมทั้งมีอาสาสมัคร พี่เลี้ยงเด็ก ครูอาสาคอยดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และหากมีอาการที่จะต้องเข้ารักษาพยาบาล ก็สามารถส่งเข้าโรงพยาบาลได้ทันที โดยวันนี้มีผู้ป่วยเด็กเข้าพักที่ศูนย์ฯ ดังกล่าว จำนวน 3 ราย เป็นชาย 1 ราย และหญิง 2 ราย