กยท.ลุ้น ราคายางพุ่ง ปัจจัยบาทอ่อน-ผลผลิตน้อย

กยท.ลุ้น ราคายางพุ่ง ปัจจัยบาทอ่อน-ผลผลิตน้อย

ราคายางพาราประจำวันที่ 19 ก.ค. 2564 ราคาประมูลเฉลี่ย ณ ตลาดกลางยางพาราฯ ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 50.64 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ราคายางแผ่นรมควันอยู่ที่ 52.77 บาทต่อกก. น้ำยางสด 43.50 บาทต่อ กก.

ซึ่งราคาดังกล่าวถือว่าปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา โดยยางแผ่นดิบ 38.34 บาทต่อกก. น้ำยาง 41.57 บาทต่อกก. ยางแผ่นดิบ 40.29 บาทต่อกก. และยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาเฉลี่ย 43.90 บาทต่อกก.

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เปิดเผยว่า แม้ปัจจุบันเกษตรกรจะทยอยกรีดยางมากขึ้น แต่ราคายางยังทรงตัว เฉลี่ยยางแผ่นดิบกิโลกรัม(กก.)ละ 50 บาท ทั้งนี้เพราะการระบาดของโควิด -19 ส่งผลให้แรงงานไม่สามารถออกไปกรีดยางได้ ซึ่งเกิดขึ้นทั้ง ใน อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย โรงงานบางแห่งไม่สมารถผลิตสินค้าได้เต็มกำลัง เพราะพนักงานติดโควิด

เงินบาทอ่อนค่า ปัจจุบันที่ 32 บาทต่อดอลลาร์ รวมทั้งราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาโกดังเก็บยางที่จีน ถูกไฟไหม้ ในขณะที่ความต้องการของตลาดยังเพิ่มขึ้น ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดไม่เพียงพอกับความต้องการ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคายางยังอยู่ในระดับที่สูงอยู่

“เป็นสินค้าเกษตรชนิดเดียวที่ ราคายังดีอยู่ เพราะซัพพลายซ๊อต รวมทั้งไม้ยางที่ปัจจุบันมีความต้องการมากขึ้นและระดับราคาดีมาก ซึ่งเป็นโอกาสของเกษตรกร ส่วนการล็อกดาวน์ ไม่มีผลต่อเกษตรกรเนื่องจาก มาตรการได้ยกเว้นเอาไว้ การขนส่งยางพารายังดำเนินการได้ตามปกติ"

162669502239

รายงานจาก กยท. แจ้งว่าสถานการณ์ในเดือน ก.ค. คาดว่าปริมาณน้ำยางจะออกสู่ตลาดไม่มากนัก เนื่องจากฝนตกชุดทำให้เกษตรกรไม่สามารถกรีดยางได้ แต่จากสภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ขยายตัว ส่งผลให้ความต้องการยางเพิ่มสูงขึ้น เงินบาทที่อ่อนค่าและราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยที่จะผลักดันให้ราคายางปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องระวัง และเตรียมพร้อมแก้ปัญหาในสภาวะราคายางผันผวน จากสต็อกยางภาพรวมที่ปรับเพิ่มขึ้น เพราะเป็นฤดูกาลผลผลิตออกสู่ตลาดมากโดยเฉพาะที่จีน และเวียดนาม ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะจีนที่ค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น50-150 ดอลลาร์ต่อตู้ขนาด โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ปัญหาขาดแคลนแคลนเซมิคอนดักเตอร์จะส่งผลให้สินค้าคงคลังกลุ่มรถยนต์ใหม่ในสหรัฐลดลงอย่างมาก คาดว่าปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์นี้ จะทำให้การผลิตรถยนต์ทั่วโลกลดลง 3.9 ล้านคันในปีนี้ มูลค่าประมาณ 110 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าค่าใช้จ่ายด้าน วัสดุต่อคันจะอยู่ที่ประมาณ 3,636 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา 2 เท่าตัว

ดังนั้น ภาครัฐยังต้องเฝ้าระวัง ติดตามและเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาในสภาวะราคายางผันผวนโดยใช้มาตรการรักษาเสถียรภาพราคายาง โครงการชะลอการขายของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ระยะ รวมถึงโรงงานถุงมือยาง ที่จะกลับเข้าสู่ภาคการผลิต รวมทั้งมาเลเซียอาจจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จึงคาดว่าราคายางในเดือน ก.ค. มีโอกาสฟื้นตัว

รายงานจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) แจ้งว่า ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันมีแนวโน้มสูงขึ้น จากปัจจัยบวกและลบด้านต่างๆโดยภาครัฐยังมีโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง เช่นโครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การเพิ่มจุดรับซื้อ และรวบรวมน้ำยางสด จึงจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มจำนวนวันกรีด บำรุงดูแลมากขึ้น

ปัจจัยภาคใต้มีการแพร่ระบาดของโควิดทำให้โรงงานศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หยุดการผลิตชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. 2564 ส่งผลให้ราคาน้ำยางสดภาคใต้ เฉลี่ยเดือนมิ.ย.ลดลง และมาเลเซียยังไม่มีแผนจะรับมอบน้ำยางสดจากไทย รวมทั้งยังคงมีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงแต่ความต้องการตลาดยังคงมีอยู่ แต่ความต้องการตลาดที่เพิ่มขึ้นและเงินบาทที่อ่อนค่าจึงคาดว่าทิศทางราคายางพาราปีนี้น่าจะยืนระยะในระดับที่สูงได้ต่อไป