สธ.ลั่น“ไม่มีทุจริตเด็ดขาด”ปมจัดหา'วัคซีนโควิด19'
สธ.แจงยิบกลไกจัดหาวัคซีนโควิด 19 ลั่นตรวจสอบได้ ไม่มีการทุจริตเด็ดขาด ผู้วิจารณ์มีข้อมูลน้อย -ไม่ครบถ้วน ทำคนเข้าใจคลาดเคลื่อน
เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ 21 ก.ค. 2564 ในการแถลงสถานการณ์โควิด19 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวประเด็นวัคซีนโควิด-19ว่า เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมา มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทำงานเกี่ยวกับวัคซีน ซึ่งเข้าใจประชาชน เพียงแต่ข้อมูลบางอย่างที่พูดกันทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น ไม่มีระบบกลไกจัดหาวัคซีน ทำงานไม่มีระบบ อยากเอาวัคซีนอะไรก็เอามา วัคซีนมีคุณภาพ ไม่มีคุณภาพ สารพัดการพูด
จึงอยากขออธิบายชี้แจงว่า กลไกการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างไร เพื่อให้เข้าใจตรงกัน เพราะที่วิพากษ์วิจารณ์โดยมีข้อมูลน้อย ข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้บางท่านวิพากษ์วิจารณ์แล้ว หรือที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ หรือคนในโซเชียลยิ่งเข้าใจคลาดเคลื่อนไปใหญ่ และหลายเรื่องไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้ทำงาน เพราะเมื่อสิ่งที่ดำเนินการ และไม่เป็นสิ่งที่ท่านคาดหมาย หรือประสงค์ให้เป็น ท่านจะโยงข้อหาเรื่องการทุจริต การมีเงินทอน ซึ่งไม่เป็นธรรม ขอยืนยันว่าภายใต้การกำกับดูแลของท่านรองนายกรัฐมนตรี การทำงานของกระทรวงฯ ตรวจสอบได้ ไม่มีการทุจริตเด็ดขาด
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า หลายฝ่ายบอกว่า เมื่อมีการเจรจา ทำไมไม่เปิดผลเจรจาทุกนัด ขอเรียนว่า การเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนใดก็ตาม จะมีสิ่งที่ต้องตกลง คือ เป็นสัญญาที่จะไม่เอาข้อความที่เจรจาไปเปิดเผย เนื่องจากมีผลมากมาย หากเอาข้อมูลที่ได้จากเจรจาไปเปิดเผยทุกนัด จะเกิดผลเสีย และจะเลิกเจรจา ซึ่งหลายคนในแวดวงจะเข้าใจ ที่สำคัญการเปิดเผยผลเจรจาที่ว่าออกไป หลายกรณีเกิดผลร้าย
ยกตัวอย่าง กรณีการเกิดระบาดช่วงธ.ค.2563 โดยขอให้ทางแอสตร้าฯ ไปจัดหาวัคซีนจากแหล่งผลิตอื่นมาให้ก่อน บริษัทก็ไปตัดยอดให้จากยุโรป เมื่อมีข่าวนี้ออกไป ทางยุโรป ก็สั่งห้ามโรงงานไม่ให้ส่ง ประเทศไทยก็ไม่ได้ในล็อตนั้น ซึ่งการดำเนินการทุกอย่างต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติให้มากที่สุด
กลไกของกระทรวงสาธารณสุขใช้ดำเนินการมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือ กลไกตามกฎหมาย เรามีพ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน มีคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มีพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ภายใต้กลไกต่างๆก็เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีนทั้งทางตรงและทางอ้อม การจะดำเนินการอะไรก็ต้องมีการพิจารณาตามคณะกรรมการ และกลไกส่วนที่สอง คือ กลไกในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยท่านรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งคณะกรรมการฯ ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีกรรมการที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม(อภ.) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และมีคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการชุดนั้นอีก 2 คณะ โดยคณะหนึ่งเจรจาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และอีกคณะเจรจาวัคซีนในส่วนของโคแวกซ์ (COVAX) ซึ่งขณะนี้ โคแวกซ์ยังไม่ได้ทิ้ง ยังเจรจาต่อมา นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการเกี่ยวกับวัคซีนทางเลือกที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า วัคซีนไม่ใช่ของทั่วไป ไม่ใช่สินค้าหาได้โดยง่าย และปัจจุบันตลาดยังเป็นของผู้ขาย ซึ่งผู้ขายมีสิทธิกำหนดต่างๆ การผลิตไม่เพียงพอ แม้กระทั่งโคแวกซ์ ที่มีคนบอกว่าทำไมไทยไม่เข้า ถึงวันนี้โคแวกว์ก็ยังจัดหาวัคซีนไม่มากเท่าที่วางแผน คือ พลาดเป้าไปค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทั้งการกลายพันธุ์ ทำให้สิ่งที่วางแผนต้องมีการปรับเปลี่ยน และเจรจาหลายฝ่ายตลอดเวลา ดังนั้น กลไกที่มีมีความเข้มแข็งมากพอในการดำเนินการ เพื่อให้ได้วัคซีนมาถึงคนไทยมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
“ ขอให้เชื่อมั่นในทีมที่ทำงาน เราทำงานบนหลักฐานข้อมูลวิชาการ ข้อแนะนำใดๆก็ตาม ที่ท่านมีให้ในทางที่เป็นประโยชน์เราน้อมรับ แต่ข้อแนะนำบางอย่างที่แบบเปิดถ้วยแทง คือ เห็นแล้วว่าเกิดอะไรแล้วมาวิจารณ์ อาจไม่เป็นธรรม จึงต้องนึกถึงวันที่ตัดสินใจล่วงหน้า หลายเรื่องไม่อาจคาดการณ์ได้ในบางเรื่อง ยกตัวอย่าง เช่น การโจมตีวัคซีนซิโนแวค หากเดือน ก.พ. มี.ค.ไม่มีวัคซีนฉีดให้ประชาชนจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งวันนี้พิสูจน์แล้วว่า ซิโนแวค 2 เข็มลดการรุนแรง ไม่เสียชีวิต จึงขอให้ทุกท่านพิจารณาอย่างถ้วนถี่ พวกเราพร้อมทำงานหนักเพื่อให้ได้วัคซีนเข้ามาเท่าที่เป็นไปได้”นพ.ศุภกิจกล่าว