'ห้องไอซียูโมดูลาร์' นวัตกรรมรองรับผู้ป่วยวิกฤต ประคองชีวิต ลดความตาย
นวัตกรรม 'ห้องไอซียูโมดูลาร์' (MODULAR ICU) จำนวน 4 อาคาร 40 เตียง ณ ศูนย์แพทย์ศาสตร์และการเรียนรู้เพื่อผู้สูงอายุ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตทวีวัฒนา กทม.
โดย 'ห้องไอซียูโมดูลาร์' (MODULAR ICU)เป็นนวัตกรรมช่วยแก้ปัญหาขาดแคลน เตียงไอซียู ในพื้นที่กทม.ประคองชีวิต ลดความตายให้กับผู้ป่วยในภาวะวิกฤต และสร้างความอุ่นใจให้คนไทยก้าวข้ามความยากลำบากครั้งนี้ ที่สำคัญยังช่วยสร้างความมั่นใจลดความเสี่ยงการติดเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่าการผลิต ห้องไอซียูโมดูลาร์ จะช่วยเสริมปริมาณเตียงไอซียูใน กทม. ที่มีอยู่ประมาณ 400 เตียง ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เพื่อรองรับผู้ป่วยวิกฤตได้ทันท่วงที ซึ่งเป็นงานที่สำคัญและท้าทายอย่างยิ่งที่ต้องเร่งสร้างและติดตั้งโดยเร็วที่สุดด้วยระยะเวลาอันสั้น เพื่อปกป้องชีวิตผู้ป่วยวิกฤตโควิด และเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน
ด้วยการระดมสมองโดยใช้ประสบการณ์ ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และการพัฒนานวัตกรรมป้องกันโควิดร่วมมือกับทีมบุคลากรทางการแพทย์ และโรงพยาบาลต่าง ๆ พัฒนาและออกแบบนวัตกรรมที่รวดเร็วและ สามารถใช้งานได้ทันที
- 'ห้องไอซียูโมดูลาร์' แก้ปัญหาเตียงไอซียูเต็ม
นวัตกรรม ห้องไอซียูโมดูลาร์ มูลค่าโครงการ 45 ล้านบาท ซึ่ง เอสซีจี ให้การสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 33 ล้านบาท ร่วมกับกรุงเทพมหานคร สร้างได้รวดเร็วใช้เวลา 7-10 วัน สำหรับห้องไอซียูโมดูลาร์ 1 อาคาร จำนวน 10 เตียง มีประสิทธิภาพความสามารถเท่าไอซียูในโรงพยาบาลใหญ่ มีเครื่องช่วยหายใจ เครื่องติดตามสัญญาณชีพ มีการให้ออกซิเจน มีระบบสื่อสาร เปรียบเสมือนไอซียูที่อยู่ในโรงพยาบาล
โดยระบบModularสามารถควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างตั้งแต่การออกแบบจนถึงการผลิตจากโรงงานเพื่อมาประกอบบริเวณหน้างานได้อย่างมีมาตรฐาน ถูกออกแบบตามฟังก์ชั่นการทำงานของข้อกำหนด ห้อง ICU ที่มีทีมแพทย์เป็นที่ปรึกษา โดยห้องสามารถควบคุมแรงดันอากาศได้เหมาะสมและปลอดภัย ทั้งระบบความดันบวก (POSITIVE PRESSURE ROOM) เพื่อกำจัดเชื้อโรคและฝุ่น และระบบความดันลบ (NEGATIVE PRESSURE ROOM) เพื่อจำกัดการแพร่กระจายและลดเชื้อไวรัสออกสู่ภายนอกอาคาร
- พื้นที่การใช้งาน'ห้องไอซียูโมดูลาร์'แบ่งเป็น5ส่วน
1.ICU ZONE สำหรับเตียงผู้ป่วยพร้อมบอกตำแหน่งระบบยังชีพต่าง ๆ ที่จะเชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาล โดยระบบการจัดการอากาศใน ZONE นี้ใช้ระบบห้องความดันลบ (NEGATIVE PRESSURE ROOM)
2.NURSING STATION ZONE สำหรับพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย โดยแบ่งเป็น MONITOR ROOM สำหรับพยาบาลที่ดูแลเฝ้าระวัง และ STAND-BY ROOM สำหรับพยาบาลที่เตรียมสวมชุด PPE พร้อมสำหรับเข้าไปดูแลผู้ป่วย ICU โดยระบบการจัดการอากาศใน ZONE นี้ใช้ระบบ ห้องความดันบวก (POSITIVE PRESSURE ROOM)
3.MEDICAL PREPARATION สำหรับจัดเก็บเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับผู้ป่วย
4.ANTE ROOM ขาเข้าสำหรับควบคุมความดันก่อนเข้าสู่พื้นที่ ICU Zone
5.ANTE ROOM ขาออกแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. พื้นที่ลำเลียงผู้ป่วยเข้าและออกจากพื้นที่ ICU 2. สำหรับทิ้งขยะติดเชื้อต่าง ๆ3. ถอดชุดPPEพร้อมทางเดินไปสู่ห้องน้ำเพื่อทำความสะอาดร่างกายเมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติหน้าที่