'เพิ่มงบช่วยปชช.-พยุงศก.'-แผนฝ่าวิกฤตโควิดอินโดฯ
'เพิ่มงบช่วยปชช.-พยุงศก.'-แผนฝ่าวิกฤตโควิดอินโดฯ ขณะที่รมว.คลังระบุงบประมาณสำหรับใช้ในโครงข่ายรองรับทางสังคม สำหรับชาวอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 20% ส่วนงบประมาณด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นประมาณ 19%
อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 สูงสุดในภูมิภาคอาเซียน กำลังเผชิญปัญหาใหญ่ที่นอกเหนือจากการรับมือวิกฤตด้านสาธารณสุขแล้ว ยังต้องประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศไปให้พ้นจากอันตรายจากผลพวงการระบาดของโรคโควิด-19ด้วย
ล่าสุด วานนี้ (21ก.ค.) ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดของอินโดนีเซีย ประกาศขยายระยะเวลาในการล็อกดาวน์ประเทศออกไปจนถึงปลายสัปดาห์นี้ ทั้งยังว่า ตั้งแต่วันจันทร์(26ก.ค.)จะค่อยๆยกเลิกมาตรการควบคุมต่างๆหากว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง
ตัวเลขล่าสุด เมื่อวันอังคาร(20ก.ค.)ระบุว่า อินโดนีเซียมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้น38,325 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 2,950,058 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้จำนวนกว่า 76,000 ราย ถือว่าสูงสุดในอาเซียน
ผู้นำอินโดนีเซีย ซึ่งกล่าวสุนทรพจน์ผ่านการไลฟ์สดบนยูทูบ เมื่อวันอังคาร ยอมรับว่านโยบายที่ประกาศใช้นี้เป็นนโยบายที่ยากลำบากมากแต่รัฐบาลไม่มีทางเลือก แต่ก็มั่นใจว่าหากประชาชนทุกคนร่วมใจกันปฏิบัติตามนโยบายนี้อย่างเคร่งครัดก็จะได้เห็นจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงและเตียงผู้ป่วยตามโรงพยายาลก็จะมีรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19อย่างเพียงพอ
“หากแนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลก็จะค่อยๆเปิดเศรษฐกิจของประเทศในวันที่ 26 ก.ค.ที่จะถึงนี้” ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กล่าว
ด้าน"ศรี มุลยานี อินทราวาตี" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินโดนีเซีย กล่าวว่า อินโดนีเซียต้องปกป้องและเพิ่มงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด-19 ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ถ้อยแถลงนี้ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินโดนีเซีย มีขึ้นในโอกาสให้สัมภาษณ์ในรายการ Squawk Box Asia ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า “งบประมาณสำหรับใช้ในโครงข่ายรองรับทางสังคม สำหรับชาวอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 20% ขณะที่งบประมาณด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นประมาณ 19% และปัจจุบัน นโยบายโครงข่ายรองรับทางสังคมของอินโดนีเซียได้ขยายความช่วยเหลือให้แก่ผู้มีฐานะยากจนและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ
“ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเปลี่ยนเป้าหมายเรื่องการใช้งบประมาณเพื่อปกป้องดูแลประชาชน เราไม่อยากให้เรื่องนี้ยืดเยื้อนานเกินไป เพื่อจะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3” นางอินทราวาตี กล่าว
รัฐมนตรีคลังของอินโดนีเซีย ระบุด้วยว่า"เศรษฐกิจของอินโดนีเซียมีการขยายตัวและฟื้นตัวที่แข็งแกร่งมากในไตรมาสที่ 2 การเปลี่ยนแปลงเป้าหมายดังกล่าวก็เพื่อให้มั่นใจว่าอินโดนีเซียจะสามารถสกัดการระบาดของโควิด-19 ได้ และขณะเดียวกันก็เพื่อให้มั่นใจว่า หากอินโดนีเซียกลับไปดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติ จะไม่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เพราะแนวโน้มยอดผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นอาจทำให้ระบบสาธารณสุขแบกรับไม่ไหว”
อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียถือว่ามีอัตราการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนล่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ของ Our World in Data ระบุว่านับจนถึงวันที่ 16 ก.ค. ประชากรอินโดนีเซียได้รับวัคซีนครบทั้งสองโดสแล้วมีเพียง 5.89% เท่านั้น
ขณะที่ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ออกรายงานเตือนว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นในอินโดนีเซียจะส่งผลกระทบต่อแผนการปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล และอาจเป็นปัจจัยลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของอินโดนีเซีย โดยปัจจุบัน มูดี้ส์ให้อันดับความน่าเชื่อถือของอินโดนีเซียที่ระดับ Baa2 และให้แนวโน้มมีเสถียรภาพ
มูดี้ส์ ระบุในแถลงการณ์ว่า “อินโดนีเซียกำลังเผชิญกับไวรัสโควิด-19 ที่กลับมาแพร่ระบาดรอบใหม่ โดยเฉพาะไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและแผนการปรับลดตัวเลขขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล”
อินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในประเทศของโลกที่เผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระดับที่รุนแรง เนื่องจากการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตา ขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศใช้มาตรการควบคุมการเดินทางสัญจรตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา
มูดี้ส์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะขยายตัวเพียง 4.5% ในปี 2564 หลังจากที่หดตัวลง 2.1% ในปี 2563
นอกจากนี้ มูดี้ส์ ยังคาดว่า รัฐบาลอินโดนีเซียอาจต้องเพิ่มการใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ในขณะที่รายได้ของรัฐบาลยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในปีนี้ หลังจากที่รายได้ทรุดตัวลงอย่างหนักในปี 2563
มูดี้ส์คาดการณ์ว่า ในปี 2564 รัฐบาลอินโดนีเซียจะขาดดุลงบประมาณสูงถึง 5.9% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งสูงกว่าที่รัฐบาลอินโดนีเซียคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.7% ของตัวเลขจีดีพี
สถานการณ์ยากลำบากทั้งการระบาดของโรคโควิด-19 และการดูแลด้านงบประมาณให้ลงตัวของอินโดนีเซีย ทำให้“เพอร์รี วาร์จิโย” ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย ประกาศปรับลดคาดการณ์จีดีพีในปี 2564 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.6% เหลือเป็นขยายตัว 3.8% จากการประเมิน ผลกระทบของมาตรการควบคุมโควิด-19
ปัจจุบัน อินโดนีเซียซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน กำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ที่ย่ำแย่ที่สุดในภูมิภาคนี้ โดยยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังคงทะยานขึ้นต่อเนื่อง และโรงพยาบาลต่างๆ ต้องแบกรับภาระการรักษาผู้ป่วยจนเกินขีดจำกัด
“ก่อนหน้านี้เราประเมินว่าจีดีพีของประเทศจะขยายตัวในช่วง 4.1% ถึง 5.1% ในปีนี้ หรือตรงจุดกึ่งกลางอยู่ที่ 4.6%” วาร์จิโยเปิดเผยต่อที่ประชุมคณะกรรมการด้านงบประมาณของรัฐสภา แต่ก็ยอมรับว่า จากข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2564 ทำให้ธนาคารคาดการณ์ว่าการเติบโตของจีดีพีจะอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้แต่เดิม