'ผู้ป่วยโควิด'เดินทางกลับภูมิลำเนาแล้ว 3 หมื่นกว่าราย ย้ำประสานเข้าระบบอย่าเดินทางเอง
สธ.เผยผู้เดินทางกลับ 'ภูมิลำเนา' ด้วยตัวเอง เดือนก.ค.ไปแล้ว 5 แสนกว่าราย เชื่อมี 'ผู้ติดเชื้อโควิด 19' ร่วมเดินทางไปด้วย ขณะนี้ยอด 'ผู้ติดเชื้อโควิด 19' เดินทางกลับแล้ว 3 หมื่นกว่าราย ย้ำขอให้ประสานเข้าระบบของรัฐ อย่าเดินทางกลับเอง
จากยอดผู้ป่วยรายใหม่ในกทม.และปริมณฑล พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เตียง ไอซียูในโรงพยาบาลต่างๆ ไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วยได้ 'การนำผู้ติดเชื้อโควิด 19 กลับภูมิลำเนา' จึงเป็นอีกหนึ่งมาตรการของภาครัฐที่ได้ดำเนินการขึ้น เพื่อจัดส่ง ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในกลุ่มที่สามารถเดินทางได้ กลับไปดูแล รักษาใน 'ภูมิลำเนา' ของตนเอง
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าด้วยความเป็นห่วงจากรัฐบาล ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)วางแผนนำผู้ติดเชื้อโควิด 19 กลับภูมิลำเนาด้วยความปลอดภัย ไม่แพร่เชื้อระหว่างทาง เพราะหลายๆ ท่านอาจไม่มีรถส่วนตัว
การไปรถสาธารณะอาจจะไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้ จึงได้มอบหมายให้ช่วยสร้างระบบที่จะดูแลในเรื่องนี้ ภายใต้การประสานงานร่วมกันระหว่าง (สธ.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอื่นๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วทในการดูแลครั้งนี้
- 'ผู้ป่วยโควิด' เดินทางกลับ 'ภูมิลำเนา' แล้ว 3 หมื่นกว่าราย
จากประชากรในกทม.มีประมาณ 8 ล้านกว่าคน แบ่งเป็น ประชาชนกรที่มาจากภูมิภาคอื่นๆ ประมาณ 2.41 ล้านคน และกทม. 5.59 ล้านคน ซึ่งอัตราการย้ายถิ่นของประชากร สู่กทม. พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 43.6% ภาคกลาง 25.5% ภาคเหนือ 19.9% และภาคใต้ 5.4% ซึ่งจากอัตราการย้ายถิ่นส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น กลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่มีการเดินทางกลับภูมิลำเนามากสุด
ข้อมูลผู้ลงทะเบียนขอเดินทาง กลับภูมิลำเนา เดือนก.ค.ผ่านระบบ ศบค. พบว่า มีทั้งหมด 504,241 ราย แบ่งเป็นวันที่ 19 ก.ค. จำนวน 63,512 ราย วันที่ 20 ก.ค.จำนวน 191,535 ราย วันที่ 21 ก.ค.จำนวน 150,410 ราย และวันที่ 22 ก.ค. จำนวน 98,784 ราย ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ได้มีการออกเดินทางกลับภูมิลำเนาไปเองแล้ว และคาดว่าในจำนวนนี้จะมีผู้ติดเชื้อโควิด 19 ร่วมเดินทางไปด้วย ฉะนั้น นโยบายนี้เพื่อความปลอดภัยของทุกคน ให้เดินทางกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย และหากติดเชื้อจะได้รับการรักษาอย่างเร็ว
ทั้งนี้ การส่งผู้ป่วยโควิด กลับภูมิลำเนาช่วงการระบาดระลอกใหม่ มีจำนวน ผู้ป่วยโควิด เดินทางจาก กทม.และปริมณฑล ทั้งสิ้น 31,175 ราย เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว 70.37% ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง 21.93% และผู้ป่วยกลุ่มสีแดง 7.7%
โดยวิธีการเดินทางกลับของผู้ป่วย จะเดินทางกลับด้วยตนเองและระบบขนส่งสาธารณะ มีการประสานผ่านศูนย์ร้องทุกข์ของหน่วยงานต่างๆ อาทิ ทบ.และมท. ประสานผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด/สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประสานผ่านระบบ สปสช. สธ. และสพฉ.
- วิธีการประสาน ส่งต่อ 'ผู้ป่วยโควิด' กลับภูมิลำเนา
สำหรับแนวทางการประสานงาน การส่งต่อ ผู้ป่วยโควิด กลับภูมิลำเนานั้น สามารถประสานได้ ดังนี้
-ประสานไปที่ สปสช. โทร 1330 กด 15 หรือผู้ป่วยติดต่อผ่านศูนย์ COVID -19 จังหวัด/รพ.ปลายทาง ซึ่งจะลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น
-หลังจากนั้น สปสช.จะส่งข้อมูลไปยังทางกระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขจังหวัด ทำหน้าที่ประสานรับส่งตัว ไปยังจังหวัดปลายทาง
-โดยจะมีทาง สพฉ. ประสานว่าจะมีการเดินทางโดยใช้นำรถยนต์ รถไฟ หรือเครื่องบิน
-จะมีเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ทำหน้าที่ประเมินอาการก่อนเดินทาง จัดรถรับส่งถึงปลายทาง และแจ้งข้อมูลกลับไปยังสปสช.
-หลังจากนั้นไปส่งยังจังหวัดปลายทาง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด และสาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้ดูแล
โดยการติดต่อประสาน คาดว่าไม่เกิน 3 วันก็จะเดินทางไปถึง ซึ่งระหว่างที่รอ ผู้ป่วยโควิด ต้องปฎิบัติต้นตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด เพราะเป็นผู้ติดเชื้อ ระวังตัวเอง ไม่นำไปสู่การแพร่ะรบาด แต่ถ้ามีอาการหนักขึ้นให้ประสานไปที่ 1330 หรือ 1668 ทันที
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า
ปัจจุบันในพื้นที่กทม.และปริมณฑลมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว จึงมีความจำเป็นที่ต้องเก็บเตียงให้ผู้ป่วยอาการหนัก กลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง
ดังนั้น ผู้ป่วยสีเขียวจะมีมาตรการต่างๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์พักคอย Home Isolation หรือ Community Isolation การส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา เป้นทางเลือกอีกทางหนึ่ง ให้ผู้ป่วยได้กลับไปดูแลกับพื้นที่ปลายทาง
ปัจจุบัน ประชาชนจะสามารถเข้าทางเว็บไซต์ https://crmdci.nhso.go.th/ ของสปสช.หรือ สแกนQR code เพื่อลงทะเบียนเลือกจังหวัดปลายทาง และวันที่พร้อมเดินทาง อีกทั้ง สามารถโทรสายด่วน 1330 กด 15 มีเจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์ และลงทะเบียนให้ ซึ่งอยากให้ทุกคนมั่นใจวิธีการที่ดำเนินการ เพราะเป็นระบบที่มีมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยแก่ทุกคน