'นิพนธ์' ชงท้องถิ่น-รพ.ส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ดูแลผู้ป่วย 'โควิด' ต่างจังหวัด
"นิพนธ์" ชงท้องถิ่น-รพ.ส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ดูแลผู้ป่วย "โควิด" ต่างจังหวัด เสนอ "สปสช." จัดซื้อ Rapid test คัดแยกเบื้องต้น ยับยั้งระบาด
วันที่ 24 ก.ค. ที่ห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยร่วมการประชุมมอบนโยบายเพื่อป้องกันควบคุมเเละเเก้ไขสถานการณ์การเเพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัโคโรนา 2019 (COVID-19) ผ่านระบบ Video Conference โดยมีพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมฯ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดทั่วประเทศ
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสร้างความเข้าใจและความมั่นใจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ถึงการดำเนินตั้ง Home isolation หรือ Hi ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 และการจัดตั้ง Community isolation หรือ Ci การแยกกักในชุมชน ซึ่งเป็นการกำหนดพื้นที่ภายในชุมชนสำหรับกักกันผู้สัมผัสไม่ให้ออกจากพื้นที่ พร้อมทั้งเสนอให้มีการใช้เครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล(รพ.สต.) ที่มีอยู่ทั่วประเทศได้เข้าไปดูแลผู้ป่วยให้ได้อย่างทั่วถึง และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินต้องได้ทานวันละ 3 มื้อทุกวัน และลดอัตราการเสียชีวิต
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นการฉีดวัคซีนนั้น ถือเป็นประเด็นสำคัญแต่ไม่อยากให้รอคอยการฉีดวัคซีนแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีความต้องการจัดการวัคซีนเป็นจำนวนมาก ให้ท้องถิ่นปรับแนวทางการยับยั้งโรคเพิ่มเติมควบคู่ไปกับมาตรการที่ดำเนินการอยู่แล้ว ในระหว่างที่รอวัคซีนโดยจัดหายาฟ้าทะลายโจร และยาฟาวิพิราเวียร์ เพราะว่าเราไม่ได้ใช้เชิงป้องกันแต่ใช้ในทางยับยั้ง ซึ่งมีผลจากการตรวจสอบของทางกระทรวงสาธารณสุขมาแล้วว่า สามารถดำเนินการแล้วได้ผลที่ดี ดังนั้นยาฟ้าทะลายโจรและ ยาฟาวิพิราเวียร์ จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการปรับเปลี่ยนการให้บริการแก่ประชาชน และยังได้เสนอให้ สปสช.สนับสนุนงบประมาณในการนำมาซื้อ Rapid Test ให้มากที่สุดไว้สำหรับนำมาแจกฟรีให้กับประชาชนเพื่อคัดกรองเบื้องต้นแยกคนปกติกับผู้ติดเชื้อออกจากกัน
"นอกจากนี้ในส่วนของมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด ประเด็นการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดให้เน้นย้ำการคัดกรองผู้เดินทางเพื่อเข้าสู่ระบบการเฝ้าสังเกตอาการ ณ ที่พัก โดยเน้นย้ำทุกอำเภอในการจัดเก็บข้อมูลผู้ที่เดินทางเข้าหมู่บ้านหรือชุมชน อย่างใกล้ชิด และบันทึกข้อมูลในระบบรายงานข้อมูลให้ถูกต้อง และครบถ้วน"นายนิพนธ์ กล่าว