“จุรินทร์”เร่งถกแนวทางช่วยเหลือชาวสวนภาคใต้แก้มังคุดราคาตกต่ำ 26 ก.ค.นี้
“จุรินทร์”เร่งถกแนวทางช่วยเหลือชาวสวนภาคใต้แก้มังคุดราคาตกต่ำ 26 ก.ค.นี้ “ปริญญ์” หนุนนโยบายเชื่อมกลไกเกษตร - พาณิชย์ - เอกชน
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ สานต่อนโยบาย รมว.พาณิชย์ เร่งช่วยเหลือชาวสวนมังคุดในพื้นที่ภาคใต้แก้ไขปัญหาราคามังคุดตกต่ำจากวิกฤติโควิด-19 เน้นความร่วมมือ เกษตรฯ-พาณิชย์-ภาคเอกชน โดยในช่วงที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์โดยการนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายชัยชนะ เดชเดโช และ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.ปชป. จ.นครศรีธรรมราช ถึงปัญหาราคามังคุดตกต่ำเนื่องจากวิกฤติโควิด
ซึ่งพบว่าสาเหตุสำคัญเกิดจากการที่มังคุดในภาคใต้ออกผลผลิตพร้อมกันหลายจังหวัดและตรงกับช่วงที่ศบค. สั่งล็อกดาวน์พอดี จึงทำให้พ่อค้าคนกลาง (ล้ง) ไม่สามารถส่งแรงงานเข้าไปแพ็คและรับซื้อมังคุดจากชาวสวนได้ เพราะติดขัดเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามจังหวัดที่ส่วนใหญ่ต้องเดินทางมาจากภาคตะวันออก ราคาเลยตกลงต่ำกว่าปกติอย่างรวดเร็ว
พรรคประชาธิปัตย์ทราบดีถึงความเดือดร้อนดังกล่าวของพี่น้องชาวสวนมังคุด และได้หาแนวทางช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยเบื้องต้นนายจุรินทร์ได้ขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาไปบ้างแล้ว ผ่านการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด พาณิชย์จังหวัด กรมแรงงาน กองทัพบก และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคใต้
โดยได้ผ่อนปรนการเข้าพื้นที่ อำนวยความสะดวกให้ล้งสามารถพาแรงงานเข้า - ออกจังหวัดต่าง ๆ และเชิญผู้ส่งออกลงพื้นที่ เพื่อมารับซื้อมังคุดได้ง่ายขึ้น และทำให้ราคารับซื้อกลับมาเป็นเหมือนปกติโดยเร็วที่สุด ภายใต้การกำกับดูแลของมาตรการด้านสาธารณสุข
รวมทั้งรณรงค์ให้ค่ายทหารในภาคใต้และช่องทางการตลาดของ ททบ. อุดหนุนมังคุดสำหรับบริโภค เพิ่มดีมานด์ให้ตลาด ควบคู่ไปกับการใช้งบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐ เช่น โครงการกล่องไปรษณีย์ฟรี 200,000 ใบจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ชาวสวนส่งมังคุดถึงบ้านลูกค้าได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยติดต่อขอรับกล่องได้ที่พาณิชย์จังหวัด เป็นต้น
และเพื่อให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตนในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ จึงได้เดินหน้าสานต่อนโยบายดังกล่าว โดยเชื่อมโยงกลไกระหว่าง ก.พาณิชย์ ก.เกษตรฯ ภาคเอกชน และ ส.ส.ชัยชนะ ส.ส.พิมพ์ภัทรา ในพื้นที่ จัดทำแนวทางการช่วยเหลือเพิ่มเติม อาทิ ประสานให้ผู้ทำธุรกิจส่งออกรายใหญ่เข้าไปตั้งจุดรับซื้อผลผลิตด้วยตนเอง
โดยสนับสนุนชาวสวนให้ขายมังคุดผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพื่อช่วยชาวสวนระบายสินค้าในราคาที่เหมาะสม และช่วยให้ประชาชนได้บริโภคผลไม้คุณภาพต่อเนื่องหลังจากที่ได้ทำโครงการสนับสนุนการตลาดเพื่อชาวสวนมังคุดมาตลอดสองปีนี้ รวมถึงจัดประชุมวาระเร่งด่วนระหว่างรัฐ-เอกชน ผ่านระบบออนไลน์ในเช้าวันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคมนี้เพื่อพิจารณามาตรการและแนวทางการช่วยเหลือชาวสวนมังคุดทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่เหมาะสมต่อไป
“กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ และทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป. ได้ให้การช่วยเหลือเรื่องราคามังคุดตกต่ำมาตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก ตอนนี้เมื่อชาวสวนเจอปัญหาอีกครั้ง เรายินดีที่จะช่วยเหลือทุกคนเช่นเดิม โดยจะสานต่อโครงการสนับสนุนการตลาดจากแนวทางครั้งก่อน ไปพร้อม ๆ กับหารือนโยบายใหม่ เพื่อพาชาวสวนมังคุดก้าวผ่านวิกฤติไปได้” นายปริญญ์กล่าว