บทบาท "กำนันผู้ใหญ่บ้าน" งานบำบัดทุกข์บำรุงสุข

บทบาท "กำนันผู้ใหญ่บ้าน" งานบำบัดทุกข์บำรุงสุข

บทบาทกำนันผู้ใหญ่บ้านกับงาน ”บำบัดทุกข์บำรุงสุข” สู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน


ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดระเบียบการปกครองในรูปแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ภายใต้การปฏิรูประบบบริหารราชการของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อัครมหาเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ในส่วนภูมิภาคได้มีการแบ่งการบริหารราชการของอำเภอ ออกเป็นตำบลและหมู่บ้าน

มีการทดลองเลือกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นครั้งแรกที่แขวงบางปะอิน มณฑลกรุงเก่า หรือจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2435 (ร.ศ. 111) ถือกำเนิดผู้ใหญ่บ้านและกำนันคนแรกของประเทศไทย คือ พระยารัตนกุลอดุลยภักดี หรือ นายจำรัส รัตนกุล

นับเป็นจุดเริ่มแรกของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต่อมามีการตรา พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 ขึ้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศให้วันที่10 สิงหาคม ของทุกปีเป็นวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน จวบจนวันนี้เป็นเวลา 129 ปีแล้ว ในการทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในระบบการปกครองท้องที่ เชื่อมโยง และขับเคลื่อนนโยบายของทางราชการ อีกทั้งเป็นตัวแทน และผู้นำพี่น้องประชาชนในตำบล หมู่บ้าน อยู่เคียงข้างคอยรับฟังทุกข์สุข ไกล่เกลี่ย แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้วยปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เพื่อประชาชนเป็นสำคัญ


เพื่อเชิดชูเกียรติกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ ทุ่มเท ในทุกๆปีกระทรวงมหาดไทยได้มีพิธีมอบรางวัลกำนัน ผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยม ประจำปี ให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านผู้มีผลงานดีเด่น ที่ได้รับคัดเลือกจากทั่วประเทศ ทั้งนี้ ในปี 2564 เนื่องจากการเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019( โควิด-19) ในแต่ละพื้นที่ต้องปรับตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยในชุมชน ในส่วนของอำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง ก็เช่นกัน นายสุรพร หมายเจริญ นายอำเภอแสวงหา ได้ให้ความสำคัญ และเน้นย้ำถึงมาตรการฯ ผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้านถึงพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ


นางสาวสุวรรณ แจ่มกระจ่าง กำนันตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา กล่าวว่า “มาตรการรักษาความปลอดภัยในระดับตำบลของตำบลสีบัวทองนั้นจะมีการจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งประกอบด้วยผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้าน อสม. และจิตอาสามาช่วยกันดูแลตรวจตราตามจุดเสี่ยงต่างๆ อยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 ก็จะเข้มงวดเป็นพิเศษ ในการจัดกิจกรรมตามงานต่าง ๆ ไม่ว่างานบวช งานแต่ง หรือแม้กระทั่งงานศพจะต้องทำตามมาตรการภาครัฐอย่างเคร่งครัด”

162727944638

รวมทั้งในส่วนของปัญหายาเสพติดในพื้นที่ตำบลสีบัวทอง พบน้อย เนื่องจากในตำบลสีบัวทองมีโครงการหมู่บ้านชุมชนยั่งยืน แต่ละหมู่บ้านแบ่งเป็นคุ้ม ๆ ละ 5-7 ครัวเรือน โดยมีหัวหน้าคุ้ม ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชุมชนที่ชาวบ้านเลือกขึ้นมาช่วยกันดูแล ตรวจตรา ประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจถึงพิษภัยของยาเสพติด ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านด้วยดี

“รู้สึกภูมิใจค่ะที่มีวันของเรา ทุกปีจะมีการจัดกิจกรรม มีการมอบรางวัลให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านดีเด่นทำประโยชน์ให้กับชุมชน แต่ปีนี้ไม่มี เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด” กำนันตำบลสีบัวทองกล่าว

นายสมชาย บุญสันต์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 บ้านทองเลื่อน ต.แสวงหา ซึ่งเป็นหมู่บ้านดีเด่นได้รับรางวัลโครงการหมู่บ้านอยู่ดีมีสุข แผ่นดินธรรมแผ่นดินทองระดับอำเภอ ประจำปี 2564 กล่าวถึงความสำเร็จดังกล่าวว่ามาจากการให้ความร่วมมือของประชาชนในหมู่บ้าน ในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ โดยชาวบ้านมีการตั้งกฎระเบียบของหมู่บ้านหรือธรรมนูญหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นมาเพื่อควบคุมกันเอง


โดยจะแบ่งออกเป็นคุ้มๆ ละ 10 กว่าครัวเรือนให้ดูแลกันเอง ใครทำผิดกฎของหมู่บ้านเริ่มจากตักเตือนจากนั้นก็ตัดน้ำประปาหมู่บ้าน 1-3 เดือน ขึ้นอยู่กับความหนักเบา ระหว่างนี้ผู้ทำผิดกฎต้องซื้อน้ำใช้เองทั้งบริโภคและอุปโภค ทำให้ไม่มีใครกล้าฝืนกฎหรือทำผิดธรรมนูญของหมู่บ้าน ซึ่งปัจจุบันหมู่ 11 บ้านทองเลื่อนมีประชากรทั้งสิ้น 600 ครัวเรือน

162727946570

ผู้ใหญ่สมชายยอมรับว่าการได้รับรางวัลดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของชาวบ้านที่ทุกคนมีส่วนร่วม จนทางการได้เห็นถึงผลสำเร็จทั้งในเรื่องอาชีพ รายได้ แรงงาน ตลอดจนการออกกฎระเบียบต่างๆ ที่บังคับใช้กันเองของคนในหมู่บ้าน มีการปรับเปลี่ยนอาชีพจากทำนามาเป็นปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งสร้างรายได้ดีกว่าทำนา

ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ยังกล่าวถึงความรู้สึกถึงวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งตรงกับวันที่ 10 สิงหาคมของทุกปีว่า เป็นวันที่ผู้ใหญ่ทุกคนรอคอย เพราะจะได้โชว์ผลงานความสำเร็จ หลังได้ร่วมกับชาวบ้านทำงานกันมาตลอดทั้งปีและปัจจุบันหมู่11 บ้านทองเลื่อนเป็นหมู่บ้านสีขาวเขตปลอดยาเสพติด

นับเป็นอีกก้าวสำคัญของกำนันผู้ใหญ่บ้านกับงาน”บำบัดทุกข์บำรุงสุข” เสมือนเป็นแขนขาสำคัญของทางราชการในการช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชนเพื่อไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน