ติดโควิด19 รายใหม่วันละ 1.5หมื่น ยังไม่ใช่ยอดจริง

ติดโควิด19 รายใหม่วันละ 1.5หมื่น ยังไม่ใช่ยอดจริง

ศบค.เผยยอดติดโควิด19รายใหม่กว่า 1.5 หมื่นราย ยังไม่ร่วมยอดตรวจจาก Antigen test kit ยังรักษากว่า 167,057 ราย พบเสียชีวิตที่บ้าน 5 ราย หลายพื้นที่คนกลับจากพื้นกทม.ปริมณฑล ทำยอดติดเชื้อในจังหวัดพุ่ง

      เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 26 ก.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล ในการแถลงสถานการณ์โควิด 19 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19(ศบค.) กล่าวว่า รายงานผู้ติดเชื้อทั่วโลกอยู่ที่กว่า 194 ล้านราย มีรายงานผู้เสียชีวิต 6,859 คน ถ้าดูตัวเลขรายงานผู้ติดเชื้อเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ จะเห็นว่ายังมีการรายงานผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตค่อนข้างสูงทั้ง มาเลเซีย เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา เป็นสถานการณ์ที่ศบค.ชุดเล็กหารือกันและเป็นห่วง เพราะยังมีการเดินทางข้ามพื้นที่ที่ผิดกฎหมาย เช่น พบคนไทยเดินทางจากมาเลเซียที่เป็นการเดินทางผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติ 10 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจจับได้ นำเข้าสู่สถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนช่วยเป็นหูตา เพราะเจ้าหน้าที่ตรวจพบการทำผิดกฎหมายตลดเวลา

         ตัวเลขรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15,376 ราย ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่รวมการตรวจด้วยแอนติเจน เทสต์ คิทหรือ ATK(Antigen Test Kit) แต่ภายในสัปดาห์นี้จะมีการรวมตัวเลขให้เห็นภาพรวมชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นการติดเชื้อในประเทศ 14,321 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 14 รายและจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 1,041 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 87 คน รักษาหายเพิ่ม 6,782 ราย ยังรักษา 167,057 ราย อาการหนัก 4,289 รายในจำนวนนี้ใส่ท่อช่วยหายใจ 967 ราย

      

    

สำหรับผู้เสียชีวิต ตัวเลขส่วนใหญ่ยังอยู่ที่กทม. 40 คน จะเห็นได้ชัดว่าขณะนี้การรายงานผู้เสียชีวิตจะค่อนข้างกระจายทั่วประเทศ ไม่จำกัดเฉพาะกทม.ปริมณฑลหรือพื้นที่สีแดงเข้ม ที่สำคัญยังคงอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว จำนวนวันนอนจะเห็นอัตราการครองเตียงที่นานและมีผู้ที่เสียชีวิตที่บ้าน รายงาน 5 คนเป็นการพบเชื้อหลังเสียชีวิตที่กทม. 1 คนและจ.ปทุมธานี 4 คน โดยถ้าเทียบตัวเลขรวมของทั้งประเทศจะเห็นว่าอัตราส่วนของกทม.และปริมณฑล 41 % และ 71 จังหวัด  59 % ซึ่งเป็นเลขที่แซงหน้ากทม.และปริมณฑลแล้ว

เมื่อแยกจำนวนผู้ติดโควิด19ตามเขตสุขภาพ ระหว่างวันที่ 18-24 ก.ค. 2564 ซึ่งตัวเลขที่แสดงสูงเป็นการรายงานการติดเชื้อนำเข้า หมายความจังหวัดนั้นเดิมมีรายงานผู้ติดเชื้อค่อนข้างน้อย แต่พบการรายงาน ผู้ติดเชื้อที่ยืนยันประวัติว่าเป็นผู้ที่เดินทางกลับจากทกทม.และปริมณฑลจึงไปเพิ่มจำนวนให้จังหวัดนั้นๆมีตัวเลขเป็นเชื้อนำเข้าสูงขึ้น  คือ เขตสุขภาพที่ 1  จ.น่าน พะยา แพร่ เขตสุขภาพที่ 2  จ.อุตรดิตถ์ เขตสุขภาพที่ จ.นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี และชัยนาท เขตสุขภาพที่ 7 จ.ขอนแก่น เขตสุขภาพที่ 9 จ.นครราชสีมา  และเขตสุขภาพที่ 10 จ.มุกดาหาร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี

 

      “หลายพื้นที่ที่มีการติดเชื้อจะพบว่าเป็นประชาชนที่เดินทางกลับจากพื้นที่สีแดงเข้ม ต้องเน้นย้ำจังหวัดเหล่านี้และจังหวัดที่กำลังมียอดเพิ่มขึ้นต้องเฝ้าระวัง เพราะจากการรายงานศักยภาพระบบสาธารณสุขที่มีอยู่เริ่มตึง มีอัตราอครองเตียงบางพื้นที่ 70 %ของเตียงที่มีอยู่ในจังหวัดนั้น และมีรายงานผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในจังหวัดมากขึ้นในจังหวัดเหล่านี้มากขึ้น และปัจจุบันที่บางจังหวัดมีนโยบายรับผู้ป่วยจากกทม.ปริมณฑลกลับไปรักษาตัวที่บ้าน คงต้องเน้นย้ำทั้งในส่วนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเน้นย้ำให้ระบบสาธารณสุขมีการคัดกรองประชาชนอย่างเคร่งครัด มีการจัดการระบบดูแลรักษา ซึ่งเฉพาะ รพ.อาจจะไม่เพียงพอ คงต้องใช้ระบบเหมือนกทม. ปริมณฑล คือเปิดให้มีศูนย์แยกกักในชุมชน(Community Isolation) และแยกกักที่บ้าน(Home Isolation)รองรับ ตอนนี้ต่างจังหวัดต้องเตรียมรับมือด้วย”พญ.อภิสมัยกล่าว