ส่องแนวทางการรักษาโควิด ‘Home Isolation’ vs ‘Community Isolation’
สรุปความแตกต่าง พร้อมเงื่อนไขการรักษา "โควิด-19" ของแนวทาง "Home Isolation" และ "Community Isolation"
การหาเตียงเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ เมื่อหลายโรงพยาบาลออกมาประกาศข้อความงดรับผู้ป่วย พร้อมกับยอดผู้ติดเชื้อต่อวันที่มากถึง 14,000 คน เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว กรมการแพย์ และกระทรวงสาธารณสุข จึงแนะนำให้ประชาชนรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ที่เรียกว่า Home Isolation หรือว่า ให้มีการทำ Community Isolation เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลลง
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พาไปทำความเข้าใจการรักษาโควิดในระบบ Home Isolation และ Community Isolation ทั้งสองคำคืออะไร และมีเงื่อนไขการเข้ารักษาอาการโควิดอย่างไร
- Home Isolation
แนวทาง 'การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน' หรือ 'Home isolation' คือมาตรการเสริมของการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในกรณีที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยแบ่งเป็น 2 กรณีคือ
กรณีที่ 1 ผู้ป่วยพบผลตรวจเป็นบวก และตัวเองมีความพร้อมจะอยู่บ้าน ที่บ้านเหมาะสม ซึ่งแพทย์เป็นคนพิจารณา เพื่อรอเตียงที่ว่าง ซึ่งเป็นการรอและมีมาตรการดูแลทันที เริ่มรักษาทันที จนกว่าเตียงว่างและขยับเข้ามาที่ รพ.
กรณีที่ 2 คือ ผู้ป่วยอยู่ที่ รพ. หลักการแพทย์ ต้องอยู่ 14 วัน แต่เมื่อผ่านไป 7 วัน อาการคนไข้ดีขึ้นไม่น่าห่วง กินยาเรียบร้อย ไวรัสลดลง อาจจะขอให้ท่านไปอยู่ที่บ้านแทน แทนที่จะอยู่ที่ รพ. และเอาเตียงที่ว่างรับคนอื่นเข้ามา เพราะช่วงที่จะแพร่กระจายเชื้อได้มาก คือ วันแรกๆ เท่านั้น เชื่อว่าทำให้การบริหารเตียงมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยเงื่อนไขของผู้ป่วยที่สามารถทำ Home isolation ได้ต้องมีคุณลักษณะดังนี้
1. ต้องเป็นผู้ติดเชื้อที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ที่ไม่มีการแสดงอาการ และมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงปกติ
2. อยู่ที่บ้านคนเดียว หรือมีผู้พักร่วมไม่เกิน 1 คน
3. ไม่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน 90 กิโลกรัม
4. ไม่มีอาการป่วยหรือโรคที่เกี่ยวกับปอดหรือหัวใจ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง (CKD) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
5. นอกจากนี้ ผู้ป่วยต้องยินยอมที่จะแยกตัวในที่พักของตนเองอย่างเคร่งครัด
6. ผู้ที่ตรวจ Antigen test kit ผลเป็นบวก โดยไม่ต้องรอ RT-PCR
ทั้งนี้ ระบบ 'Home isolation' ของไทย จะยังอยู่ในการดูแลของโรงพยาบาล มีการให้อุปกรณ์วัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนไปที่บ้านเพื่อวัดค่าต่างๆ มีแพทย์โทรศัพท์หรือวิดีโอคอลตรวจสอบอาการทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง มีการส่งอาหารและน้ำให้วันละ 3 มื้อ หากอาการทรุดลงก็จะส่งยาฟ้าทะลายโจรและยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ที่บ้านหรือส่งรถไปรับมานอนที่โรงพยาบาล
- Community Isolation
Community Isolation หรือการดูแลตนเองในระบบชุมชนเพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการอยู่ในระดับสีเขียวหรืออาการไม่รุนแรงในชุมชน โดยระบบนี้เกิดขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเตียงเต็ม และลดความรุนแรง การแพร่ระบาดของโรค เช่นเดียวกับ Home isolation
ซึ่งการทำ Community Isolation จะใช้พื้นที่ของชุมชน โดยได้รับความยินยอมเช่น บ้าน วัด โรงเรียนมาจัดตั้งเป็นลักษณะโรงพยาบาลสนามขนาดย่อม หรืออาจจะเรียกว่าจุดพักคอยก็ได้เช่นกัน
เกณฑ์ผู้ป่วยที่ต้องการอยู่ใน Community Isolation ประกอบด้วย
-เป็นผู้ป่วยโควิด
-ไม่มีอาการ หรือเล็กน้อย ไม่ต้องใช้ออกซิเจน (กลุ่มสีเขียว)
-ผู้ที่ตรวจ Antigen test kit ผลเป็นบวก (ต้องเซ็นใบยินยอม) พร้อมกับการตรวจยืนยันด้วย RT-PCR (ทำระหว่างการรักษา)
โดยการดูแล จะมีติดตามอาการได้ 24 ชั่วโมง ตรวจผลออกซิเจนในเลือดทุกวัน ซึ่งอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลในชุมชน รวมถึงจิตอาสา หากอาการแย่ลง นำส่งโรงพยาบาล ทั้งนี้ หลักการ การส่งต่อโรงพยาบาล
-กลุ่มสีเขียว หากมีอาการมากขึ้นให้ส่งต่อสถานพยาบาลพร้อมยืนยันผลการติดเชื้อด้วย RT-PCR
-กลุ่มเหลือง และสีแดง ให้รักษาในสถานพยาบาล
ที่มา : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข