ถึงเวลา ‘ไทย’ กดปุ่มเปลี่ยน ศก.ประเทศสู่ BCG Model

ถึงเวลา ‘ไทย’ กดปุ่มเปลี่ยน ศก.ประเทศสู่ BCG Model

อดีต รมว.อว.ชี้ ถึงเวลาประเทศไทย’ เปลี่ยนโครงสร้าง ศก.ประเทศสู่ BCG Model ให้ทันสถานการณ์โลกที่เผชิญการแพร่ระบาดโควิด-19 และช่วยตอบโจทย์ความมั่นคงของมนุษย์ในปัจจุบัน

ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวในรายการ Spokesman Live ดำเนินรายการโดยนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว) ระบุว่า ถึงเวลาที่ไทยควรเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากการอาศัยปัจจัยการผลิตไปสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม 

ดร.สุวิทย์ กล่าวชี้ว่า ขณะเดียวกันยังมีประเด็นท้าทาย ได้แก่ 1.การติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) 2.การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่ต้องตอบโจทย์โครงสร้างของไทยและของโลกไปพร้อมๆ กัน และ 3.การสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งจากภายใน เชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก โดยเน้นความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาแก้ปัญหาความท้าทายข้างต้นเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งแนวคิดนี้ได้ตกผลึกมาเป็นโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่สามารถจับต้องได้ และตอบโจทย์โลกในยุคโควิด-19

162738270414

โมเดลเศรษฐกิจ BCG คือการนำการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และภูมิปัญญามนุษย์ มารวมไว้ด้วยกัน เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BCG เป็นสิ่งที่คนไทย นักวิทยาศาสตร์ หรือภาคเอกชนไทยลงทุนอยู่แล้วในระดับหนึ่งและไม่ใช่เทคโนโลยีที่ไกลตัว จึงควรให้ความสำคัญกับนโยบายที่ชัดเจนเพื่อยกระดับ BCG ให้เกิดเป็นรูปธรรมซึ่งจะส่งเสริมบทบาทไทยในประชาคมโลกด้วย 

ส่วนสำคัญของ BCG Model ที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงคือ ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมที่เรามีกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งแต่ละภาคก็มีเสน่ห์ที่หลากหลายลงไปสู่กลุ่มจังหวัด ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำลังผลักดันโดยเรียกว่า “ BCG เชิงพื้นที่” เพื่อให้กลุ่มจังหวัดมีความโดดเด่นในด้านต่าง ๆ เช่น การเกษตร สมุนไพร พลังงานชุมชน และนำไปสู่ความโดดเด่นเรื่องเมืองหลัก เมืองรองและการท่องเที่ยว เป็นต้น

นอกจากนี้ BCG ยังช่วยตอบโจทย์การเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ 4 ด้าน ได้แก่ 1.อาหารและการเกษตร 2.สุขภาพและการแพทย์ 3.พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ และ 4.การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ลดความเหลื่อมล้ำในตัวเอง

ในปี 2565 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเขตเศรษฐกิจเอเปค สิ่งสำคัญที่ไทยควรนำเสนอคือ โมเดลเศรษฐกิจที่เป็นการรวมตัวกันของภาคเอกชน ภาครัฐ และประชาชน ไทยต้องนำ BCG มาร้อยเรียงให้เป็นเรื่องราวตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือรูปธรรมที่จะตอบโจทย์สิ่งต่างๆ ได้

ดร.สุวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า BCG คือ ความหวังที่จับต้องได้ ทุกคนมีโอกาส มีส่วนร่วม และมองว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวที่ต้องรอรัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แต่เราสามารถร่วมมือกันที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้

อย่างไรก็ตาม ติดตามชมรายการย้อนหลังแบบเต็มรายการได้ที่ : https://fb.watch/6WoAK98Zxo/