‘ทีดีอาร์ไอ’ชี้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตต่ำ แนะเร่งอีอีซี - โปรเจ็กต์ยักษ์ภาคใต้
ระดับการลงทุนของประเทศไทยเมื่อเทียบกับจีดีพีมีสัดส่วนที่ลดลงมาตลอดนับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งทำให้ธุรกิจจำนวนมากยังอยู่ในอุตสาหกรรมที่เรียกว่า Old Economy ซึ่งหากจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ต้องเพิ่มการลงทุน และเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่
หลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน ในอดีตที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เคยขยายตัวได้ประมาณ 5 % เหลือเพียง 3% ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงถือว่าเป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง และส่วนหนึ่งเป็นปัญหาระดับการลงทุนที่ต่ำมาเป็นระยะเวลานานตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540และเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ขึ้นความจำเป็นในการเพิ่มการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนในไทยยิ่งมีความสำคัญ
เพราะไม่เพียงแต่การพยุงตัวเลขเศรษฐกิจ แต่ยังหมายถึงการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อรองรับอนาคตที่มีความไม่แน่นอนสูง
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระบุว่าการลงทุนของประเทศไทยโดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชนจะเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญในการฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19 รัฐบาลมีการตั้งเป้าหมายว่าในช่วงแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (2566 - 2570) การลงทุนของประเทศจะต้องอยู่ที่ประมาณ 6 แสนล้านบาทต่อปี โดยการลงทุนส่วนใหญ่ยังอยู่ในพื้นที่อีอีซีโดยตั้งเป้าปีละประมาณ 5 แสนล้านบาทต่อปี
นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)กล่าวว่า จากการคำนวณโมเดลการประมาณการเศรษฐกิจไทยในอีก 20 ปีข้างหน้ากรณีที่สามารถพัฒนาโครงการอีอีซีได้สำเร็จเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในระดับ 3 - 5% แต่หากโครการอีอีซีไม่ประสบผลสำเร็จ คือมีความล่าช้าทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและการชักชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุนในอีอีซี การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวลดลงเรื่อยๆ เพราะขาดการลงทุนในโครงการใหม่ โดยในปี ค.ศ. 2021 - 2525 เศรษฐกิจจะขยายตัวได้เฉลี่ย 3.3% ก่อนจะลดลงเหลือ 2.78% ในช่วงปี 2026 - 2030 จนในช่วงปี 2036 - 2040 อัตราการเติบทางเศรษฐกิจจะลดลงเหลือเฉลี่ยประมาณ 1.76% เท่านั้น
“ระยะที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ย 3 % หากจะเพิ่มการเติบโตให้ได้ 5% ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มการลงทุน เนื่องจากการลงทุนที่น้อยทำให้ประเทศไทยติดกับดักเชิงโครงสร้าง มีบริษัทที่เป็นการลงทุนด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมน้อย สังเกตจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ก็เป็นบริษัทที่เป็น Old Economy เช่น หุ้นน้ำมัน โรงกลั่น สินค้าโภภัณฑ์ ซึ่งหากไม่ปรับโครงสร้างการผลิตในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซีซึ่งมีความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน แต่ที่ต้องเร่งรัดคือเรื่องของการเตรียมคน เตรียมความพร้อม โดยเร่งรัดฝึกทักษะอาชีพที่จำเป็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย โดยในเรื่องนี้ต้องเตรียมการตั้งแต่ก่อนเกิดโควิดเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ทันทีที่โควิดคลี่คลายลง”
นณริฏกล่าวต่อว่า รัฐบาลควรเตรียมความพร้อมในการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็กต์) โครงการอื่นๆเพื่อเพิ่มโอกาสให้เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตมากขึ้นโดยเป็นโครงการใหม่ที่เชื่อมโยงซัพพลายเชนหรือมีความเกี่ยวข้องในด้านต่างๆกับโครการอีอีซี ซึ่งพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะมีการลงทุนโครงการใหม่ๆคือพื้นที่ภาคใต้
ทั้งนี้ มีสองโครงการที่รัฐบาลอยู่ระหว่างศึกษาและตัดสินใจว่าจะลงทุนได้แก่ โครงการเชื่อมโยงระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) และโครงการคลองไทย ซึ่งทั้งสองโครงการเป็นโครงการที่จะทำให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่และสนับสนุนธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องได้มาก
โดยโครงการที่ภาครัฐควรสนับสนุนคือโครงการคลองไทยซึ่งจะช่วยตัดเส้นทางเดินเรือให้ไม่ต้องไปอ้อมช่องแคบมะละกาซึ่งจะทำให้เส้นทางการเดินเรือที่จะผ่านคลองไทยมีความสำคัญมากในเวทีโลก ซึ่งแม้โครงการนี้จะใช้เงินลงทุนรวมถึงประมาณ 2 ล้านล้านบาทแต่จะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่าโครงการแลนด์บริด ดึงดูดการลงทุนได้มากกว่า และมีสามารถคืนทุนได้เร็ว
โครงการ“แลนด์บริดจ์”-“คลองไทย”
โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเล อันดามันและอ่าวไทย (Land bridge) หรือ "แลนด์บริดจ์" เป็นโครงการที่สอดคล้องกับแผนขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Corridor: SEC) ที่ครอบคลุม 4 จังหวัดภาคใต้ตอนบน คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช ซึ่งจะนำ ไปสู่การเชื่อมโยงการขนส่งและคมนาคมอย่างครบถ้วนกับโครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
โดยปัจจุบันกระทรวงคมนาคม ได้ให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบการพัฒนาการลงทุน และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อเดินหน้าโครงการ
ทั้งนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.การพัฒนาท่าเรือนํ้าลึก2 ฝั่งทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามันโดยพัฒนาท่าเรือนํ้าลึกระนองและพัฒนาท่าเรือนํ้าลึกชุมพร
2.การพัฒนาทางหลวงและมอเตอร์เวย์เชื่อมระหว่าง จ.ระนอง และ จ.ชุมพร 3. การพัฒนารถไฟทางคู่สายใหม่เชื่อมระหว่างจ.ระนอง และ จ.ชุมพร ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร ควบคู่กับการพัฒนาเส้นทางมอเตอร์เวย์
สำหรับโครงการคลองไทย หรือ "โครงการคอคอดกระ"ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีการเสนอให้มีการศึกษาโครงการ และก่อสร้างมาหลายครั้ง รวมทั้งมีเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้านโครงการจากหลายฝ่าย โดยโครงการนี้นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ลงไปศึกษาโครงการมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562
สำหรับเส้นทางของคลองไทย 9 เอ จะผ่านจังหวัดสงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ตรังและกระบี่ มีระยะทาง 135 กิโลเมตร คาดว่า จะช่วยย่นระยะทางการเดินเรือได้ 1,200 - 3,500 กิโลเมตร