JTS เล็งศึกษาธุรกิจพลังงานหมุนเวียน รองรับขยาย 'เหมืองขุดบิตคอยน์'ในอนาคต
"จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์" เล็งศึกษาธุรกิจพลังงานหมุนเวียน รองรับ JasTel ขยายธุรกิจใหม่ "เหมืองขุดบิตคอยน์" ในอนาคต หวังช่วยลดต้นทุนและรักษาสิ่งแวดล้อม ชี้ธุรกิจใหม่คาดรับรู้รายได้ต่อเนื่อง โดยรายได้ที่เกิดขึ้นในปี 64 ไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้รวม
นายดุสิต ศรีสง่าโอฬาร กรรมการผู้จัดการบริษัท จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JTS เปิดเผยว่า บริษัทแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ว่า บริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จำกัด หรือ JasTel ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ จะดำเนินการลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ (Bitcoin Mining) ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่
โดยที่ ได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจนี้เป็นอย่างดีมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และเห็นว่าการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวเป็นการลงทุนในระยะยาว อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้ใหม่ให้แก่บริษัทฯ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท JasTel ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ได้มีมติอนุมัติการลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ โดยมีมูลค่าการลงทุนทั้งหมดจำนวน 156.7 ล้านบาท ซึ่งอุปกรณ์หลักประกอบด้วยเครื่องขุดบิตคอยน์จำนวน 500 เครื่อง ซึ่งได้ทยอยสั่งซื้อและจะติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2564
บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจใหม่นี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ถือเป็นรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทตามนัยของประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ.20/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์ในการทำรายการที่มีนัยสำคัญที่เข้าข่ายเป็นการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) และตามประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ พ.ศ. 2547 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ("ประกาศเรื่องรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์") โดยมีขนาดรายการตามเกณฑ์มูลค่ารวมของสิ่งตอบแทนเท่ากับ ร้อยละ 11.66 เมื่อใช้ฐานในการคำนวณจากงบการเงินรวมของบริษัท สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 ซึ่งผ่านการสอบทานโดยผู้สอบบัญชีของบริษัทแล้ว บริษัทฯ ไม่มีรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์อื่นใดที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา จึงไม่ต้องเปิดเผยตามเกณฑ์การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน
แต่บริษัทฯ เห็นว่าเป็นพัฒนาการใหม่ จึงแจ้งมายัง ตลท. เพื่อทราบต่อไปของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้น สำหรับการขยายกำลังการขุดบิตคอยน์เพิ่มเติมอีก 5,000 เครื่องในอนาคตนั้น บริษัทฯ จะเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาก่อน หากเข้าเกณฑ์ที่มีนัยสำคัญตามประกาศ รายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ฯ บริษัทฯ จะดำเนินการให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ในประกาศดังกล่าว พร้อมทั้งแจ้งต่อ ตลท. ให้ทราบต่อไป
บริษัทฯ จะใช้นโยบายทางการบัญชีในการบันทึก Bitcoin ที่ขุดได้เป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนและรายได้ด้วยราคาทุน (มูลค่ายุติธรรม ณ วันที่ได้มา) หักค่าเผื่อการด้อยค่าสินทรัพย์ โดย Bitcoin ที่ขุดได้จะนำมาจำหน่ายบางส่วนและเก็บไว้บางส่วน โดยรายได้ที่เกิดขึ้นในปี 2564 ไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อรายได้รวม โดยปัจจุบันธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ไม่ต้องแจ้งขออนุญาตจากหน่วยงานใดๆ รวมถึง Bitcoin ยังไม่ถือเป็นเงินสกุลหนึ่งในประเทศไทย และอยู่นอกเหนือกฎข้อบังคับต่างๆ ของการแลกเปลี่ยนเงินตรา จึงไม่ต้องขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม การขุดบิตคอยน์นั้น เป็นการใช้พลังประมวลผลของเครื่องขุดเพื่อเพิ่มข้อมูลชุดใหม่เข้าไปใน ระบบ Blockchain ซึ่งจะได้ผลตอบแทนออกมาเป็นบิตคอยน์ โดยผลตอบแทนที่ได้ขึ้นกับสัดส่วนของพลังงานการประมวลผลของบริษัทฯ เทียบกับพลังประมวลผลรวมทั่วโลก (Total Hash Rate) ณ ขณะนั้น ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา บริษัทฯ มีต้นทุนการดำเนินการหลักเป็นค่าไฟฟ้าซึ่งคงที่ และแปรผันตรงกับจำนวนเครื่องขุด เครื่องขุดบิตคอยน์ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานหลักที่ใช้ในการขุดบิตคอยน์คือพลังงานไฟฟ้า ซึ่งบริษัทฯ ใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งได้รับการรับรองด้านสิ่งแวดล้อมตามระบบ ISO 14001
อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต ขณะนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาเกี่ยวกับการนำพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานจากโซลาร์เซลล์ และพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ มาใช้ทดแทน ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนและรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วยพร้อมกัน
อนึ่ง ธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์มีความเสี่ยงด้านการรับรองจากกฎหมายและหน่วยงานที่จะกำกับในอนาคต และความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของบิตคอยน์ซึ่งอาจมีการผันผวน โดยบริษัทฯ ตระหนักดี และจะระมัดระวังไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการลงทุน และผลประโยชน์