ถึงไทยแล้ว!'แอนติบอดี ค็อกเทล'ยาต้านไวรัสโควิดตัวแรก ลดนอนรพ.ได้ถึง 70%
'แอนติบอดี ค็อกเทล' เป็นยาในกลุ่มภูมิลบล้างฤทธิ์ ซึ่งเป็นยาที่ผลิตขึ้นสำหรับต้านไวรัสโควิด 19 ตัวแรก ผลการศึกษาชี้ชัด ลดการนอนรพ. ลดเข้าห้องไอซียูได้ถึง 70%แก้วิกฤตเตียงเต็มในไทย
พุ่งไม่หยุดสำหรับยอดผู้ป่วยโควิด 19 ที่วันนี้ (30 ก.ค.2564) สูงถึง 17,669 ราย และมีผู้เสียชีวิต 165 คน เรียกได้ว่ามาตรการ ล็อกดาวน์ คงจะเอาไม่อยู่แล้ว และด้วยยอดผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างนี้ วิกฤตเตียงล้น ห้องไอซียูเต็ม ผู้ป่วยต้องนอนรอเตียงอยู่ที่บ้าน และภาพการเสียชีวิตที่บ้านคงมีให้เห็นหลายวัน
หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคม พยายามช่วยดูแล รักษาผู้ป่วยโควิด 19 รวมถึงคิดค้นนวัตกรรม วิธีการรักษา ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ มาใช้รักษาผู้ติดเชื้อ
ล่าสุด ยาแอนติบอดีแบบผสม หรือ 'แอนติบอดี ค็อกเทล'(antibody cocktail) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ โรช (Roche) และ รีเจนเนอรอน (Regeneron) ร่วมกันพัฒนาขึ้น และได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศให้ใช้ เพื่อการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินได้
- ทำความรู้จักกับ ‘แอนติบอดี ค็อกเทล’
ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ กล่าวในงานแถลงข่าว เจาะลึก ตัวเลือกการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 กับแอนติบอดี ค็อกเทล (antibody cocktail) เพื่อช่วยรับมือกับวิกฤต จัดโดย บริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด ว่า ยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ คำนี้อาจเป็นคำใหม่ของทุกคน แต่ในมุมมองการรักษาโควิด 19 จะถือเป็นอาวุธอีกชิ้นหนึ่งที่จะช่วยให้แพทย์รักษาผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น
โดยโรค โควิด 19 อย่างที่ทุกคนทราบกันดี เกิดจากไวรัสตระกูลโคโรน่า ที่ผิวของไวรัสมีโปรตีนเหมือนหนาม ซึ่งโปรตีนนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ไวรัสเข้าไปจับกับผิวของเซลล์มนุษย์ ทำไวรัสติดเชื้อได้ การที่โปรตีนหนาม ไปจับกับโปรตีน ACE2 บนผิวของเซลล์คน ซึ่งตัว ACE2 มีความจำเป็นต่อการทำงานของเซลล์ในคน และพบได้ในหลากหลายอวัยวะ โดยเฉพาะบทบาทสำคัญในการป้องกันระบบทำงานของปอด ระบบหัวใจและหลอดเลือด
ทั้งนี้ คนที่ติดโควิด 19 แล้วและหายจะมีตัวแอนติบอดี้ ซึ่งแอนติบอดี ค็อกเทลนี้ จะเป็นการอาศัยการคัดกรองคนไข้ที่เคยติดเชื้อโควิดและหาย หรือสัตว์ที่ทำการทดลองหาย มีภูมิคุ้มกัน ทำให้มีฤทธิ์สูงในการยับยั้งเชื้อโควิด 19 และได้มีการนำไปทดลองในเซลล์ที่เป็นเป้าหมาย ทำการสกัดภูมิคุ้มกันนี้ออกมา จะทำให้ได้แอนติบอดี้ ที่ยับยั้งเชื้อได้โดยตรง
"กลไกของการทำงานยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ ซึ่งแอนติบอดี ค็อกเทลจัดอยู่ในกลุ่มนี้ จะสามารถทำให้ไวรัสอ่อนกำลังลง และตรงเข้าจับกับตัวรับบนโปรตีนรูปแบบเดือยซึ่งอยู่บนผิวของไวรัสโควิด จึงสามารถยับยั้งการติดเชื้อภายในร่างกายมนุษย์ได้ และจากการทดลองในห้องปฎิบัติการ ยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์มีความไว ต่อไวรัสโควิด 19 ในสายพันธ์ต่างๆ” ศ.นพ.มานพ กล่าว
- ‘แอนติบอดี ค็อกเทล’ช่วยลดภาระเตียงเต็ม
ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณากุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่าขณะนี้ผลการศึกษาแอนติบอดี จะเป็นการศึกษาผู้ป่วยโควิด 19 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตยาตัวดังกล่าว
โดยผลการศึกษาประสิทธิภาพของแอนติบอดี ค็อกเทล จะดำเนินการในการรักษา ผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง ซึ่งถ้าในประเทศไทยก็จะเป็นการใช้ใน ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว และกลุ่มสีเหลืองเท่านั้น
ศ.พญ.ศศิโสภิณ กล่าวต่อว่าการศึกษาได้มีดำเนินการถึงเฟส 3 และมีการใช้ในกลุ่มผู้ป่วยอาการน้อยถึงปานกลาง และไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จำนวน 4,567 ราย โดยจะต้องเป็นผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการไม่เกิน 7 วัน ไม่เคยได้รับ ยารักษาโควิด 19 มาก่อน และมีความเสี่ยงที่มีอาการโควิดจะลุกลามไปสู่ระดับรุนแรง เป็นผู้ป่วยโรคอ้วน 58% โรคหัวใจและหลอดเลือด 36% และผู้ป่วยที่มีอายุ 51 ปีขึ้นไป 51 %
ในการทดลองจะมีการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม เป็นการศึกษาแบบสุ่มเพื่อเพื่อจะได้ไม่เกิดการอคติในการวิจัย นั่นคือ จะมีกลุ่มที่ได้รับบาก 1,200 มก. กลุ่มที่ได้ยา 2,400 มก. และกลุ่มที่ได้ยาหลอก
“ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มที่ได้รับแอนติบอดี ค็อกเทล ปริมาณ 1,200 มก. ลดการนอนรพ.หรือการเสียชีวิตได้ถึง 70% และกลุ่มที่ได้รับแอนติบอดี ค็อกเทล ปริมาณ 2,400 มก. ลดการนอนรพ.หรือการเสียชีวิตได้ถึง 71 % และระยะเวลาที่โรคแสดงอาการลดลง จาก 14 วันหาย เหลือ 10 วันหาย ดังนั้น ยาแอนติบอดี ค็อกเทล สามารถช่วยลดภาระเตียงเต็ม ห้องไอซียูเต็มของรพ.ไทยได้ในขณะนี้” ศ.พญ.ศศิโสภิณ กล่าว
- ใช้เฉพาะกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว และสีเหลือง
นอกจากนั้น ได้มีการนำยากลุ่มภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ ไปใช้ทดลองในห้องทดลอง กับสายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์อัลฟา สายพันธุ์เบตา สายพันธุ์แกมมา และ สายพันธุ์เดลตา พบว่า ยาในกลุ่ม Cas&Im ของกลุ่มบริษัทโรช มีผลในการยับยั้งเชื่อได้ทั้งหมดทุกสายพันธุ์ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องมีการทดลองใช้ในมนุษย์ ว่าผลจะเป็นไปตามในห้องทดลองหรือไม่
ศ.พญ.ศศิโสภิณ กล่าวอีกว่า แอนติบอดี ค็อกเทล มีประสิทธิภาพทางคลินิกเป็นที่น่าพึงพอใจ ในแง่การลดจำนวนไวรัส และสามารถใช้รักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง และเป็นยาที่จัดอยู่ในกลุ่มยาภูมิต้านทานลบล้างฤทธิ์ ประกอบด้วยแอนติบอดี 2 ชนิดที่ยับยั้งไวรัสไม่ให้เข้าไปในเซลล์ โดบผลการศึกษาระบุว่า สามารถยับยั้งสายพันธุ์ต่างๆ ของโควิดเท่าที่พบในปัจจุบันได้
นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงของการดื้อยาด้วย ทั้งนี้ จากผลการศึกษาในเรื่องความปลอดภัย พบว่าผู้ป่วยโควิด 19 ที่ได้รับแอนติบอดี ค็อกเทล ไม่แสดงอาการข้างเคียงที่เกิดจากการได้รับยา อย่างไรก็ตาม อาจพบอาการข้างเคียงทั่วไปที่เจอได้ในยาฉีด เช่น ปฎิกิริยาแพ้แบบรุนแรงและเฉียบพลัน หรือภาวะภูมิไวเกิน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :สธ.ปรับแผนใช้ 'ยาฟาวิพิราเวียร์'ใช้กับผู้ป่วยทุกกลุ่มเสี่ยง
เผยวิธีใช้ 'ฟ้าทะลายโจร'ในผู้ป่วยสีเหลืองได้อย่างไร
รู้จัก 'ยาฟาวิพิราเวียร์' ช่วยรักษา 'โควิด-19' ไทยกำลังจะผลิตเองได้
- ข้อแนะนำในการใช้ยา 'แอนติบอดี ค็อกเทล'
นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่ายากลุ่มภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ ถูกผลิตขึ้นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งข้อแนะนำจาก สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา จะใช้ยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ในกลุ่มผู้ป่วยนอกที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่โรคจะดำเนินไปสู่โรคโควิด 19 ที่มีอาการรุนแรงตามเกณฑ์ของEUA
ขณะที่ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งสหรัฐอเมริกา ได้มีข้อแนะนำให้ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย ถึงปานกลาง และเป็นผู้ป่วยที่มีเสี่ยงสูงที่โรคจะดำเนินไปสู่โรคโควิด 19 ที่มีอาการรุนแรง หรือส่งผลให้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
โดยการเลือกใช้ยาในกลุ่ม ภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ ให้คำนึงถึงความไวและจำเพาะต่อชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ส่วนข้อมูลประสิทธิภาพยาในกลุ่มภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ในผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังมีค่อนข้างจำกัด
“ปัจจุบันมีการใช้ยาดังกล่าวไปแล้วกว่า 6 แสนโดสในสหรัฐอเมริกา และจากการใช้จริง ในกลุ่มผู้ป่วย 4,805 คน พบว่าสามารถลดการนอนรพ.และลดการเข้ามาห้องฉุกเฉินได้จริง นั่นคือ เมื่อรักษาด้วยยาดังกล่าว 4 คน สามารถลดการนอนรพ.และห้องฉุกเฉิน ได้ 1 คน การเสียชีวิต ถ้าใช้ยากลุ่มดังกล่าว จะเสียชีวิต 0-0.6% เมื่อเทียบกับผู้ไม่ได้ใช้ยามีโอกาสเสียชีวิต 1.4-3.5% ขณะที่การนอนไอซียู พบว่าหากใช้ยากลุ่มดังกล่าว จะนอนไอซียู 0.66-0.77% ส่วนผู้ไม่ใช่ยามีโอกาสนอนไอซียู7.6” นพ.วีรวัฒน์ กล่าว
- แนวทางการใช้ 'แอนติบอดี ค็อกเทล'ในไทย
นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า ขณะที่มีหลายประเทศได้มีการนำ ยาแอนติบอดีแบบผสม ไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรป ล่าสุดประเทศญี่ปุ่น และไทยจะเริ่มมีการใช้ในวันนี้ (30 ก.ค.2564) เพราะยาพึ่งเข้ามาประเทศในวันนี้
ส่วนความปลอดภัยของยา จากการทดลองจะชี้ให้เห็นว่า มีความปลอดภัย และจากการใช้ในชีวิตจริงจำนวนมากไม่พบปฎิกิริยารุนแรง
โดยในส่วนของการนำมาใช้ในไทยนั้น จะเริ่มใช้ในวันนี้แก่ผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียว กลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง และกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้อาการของโรครุนแรง คือ กลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ และอ้วน
เบื้องต้น จะให้ในปริมาณ 1,200 มก. เป็นยาฉีด ผ่านทางเส้นเลือด ใช้เวลาประมาณ ครึ่งชม. และสังเกตอาการ 2ชม. หลังจากนั้นผู้ป่วยกลับบ้านเพื่อติดตามอาการต่อไป
- ย้ำทุกคนต้องป้องกันตนเอง ลดการแพร่เชื้อ
นพ.วีรวัฒน์ กล่าวต่อไปว่ายานี้เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคโควิด 19 ซึ่งหากใครไม่มีโรคร่วม แข็งแรงดี ไม่ควรใช้ยาดังกล่าว ฉะนั้น ยานี้จะเหมาะกับผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง และมีความเสี่ยง มีโรคประจำตัว เพื่อลดการนอนในรพ. ลด ผู้ป่วยอาการหนัก เพราะในขณะนี้ ผู้ป่วยโควิด 19 ที่ใส่เครื่องช่วยหายใจ 100% จะมีโรคประจำตัวร่วมด้วย การใช้ ยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์ ต้องใช้ในกลุ่มที่เหมาะสม
ยาดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากอย.เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีกรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สภากาชาดไทย และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่สามารถนำเข้าได้
“แม้จะมียาแอนติบอดีแบบผสมมาใช้นั้น แต่ทุกคนก็ต้องป้องกันตนเองในเรื่องการแพร่กระจายเชื้อ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะตอนนี้เชื้อมีการระบาดในภาวะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การดูแลตัวเองมีความสำคัญมาก การใส่หน้ากาก การล้างมือ การเว้นระยะห่าง การรับวัคซีน เพื่อป้องกันตนเอง ป้องกันคนที่เรารัก ป้องกันสังคม และประเทศชาติสู้กับโรคระบาดในครั้งนี้” นพ.วีรวัฒน์ กล่าว