'ใช้ชีวิตพอเพียง ครอบครัวมีสุข ชุมชนเข้มแข็ง สังคมแบ่งปัน' แนวทางกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่น
"ใช้ชีวิตพอเพียง ครอบครัวมีสุข ชุมชนเข้มแข็ง สังคมแบ่งปัน" แนวทางกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่น ระดับเขต ภาคตะวันออกปี 64
จากความขัดสนเงินทุนประกอบอาชีพ พัฒนาสู่การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาแบบกลุ่ม ยึดแนวทาง สังคม ชุมชน และภูมิปัญญา มาผสมผสาน สร้างความอยู่ดี กินดี มีกิน มีใช้ในทุกสภาวะการณ์ สสก.3 จ.ระยอง พิจารณาคัดเลือกเป็น กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่น ระดับเขต ปี 64 ของภาคตะวันออก พร้อมขยายผลความสำเร็จสู่เกษตรกรชุมชนอื่น ๆ ต่อไป
นายปิยะ สมัครพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ( สสก. 3 จ.ระยอง ) เปิดเผยว่ากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทรายมูลพัฒนา หมู่ที่ 9 ตำบลหนองปรือ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เป็นกลุ่มที่เกิดจากกิจกรรมออมทรัพย์เพื่อแก้ปัญหาเงินทุนของชุมชน ในการสร้างอาชีพตามความถนัด เพื่อสร้างรายได้แก่ครัวเรือน ก่อเกิดความเกื้อกูลเชื่อมโยงกันภายในชุมชน ภายใต้แนวทางนำภูมิปัญญาของชุมชนมาสร้างมูลค่า เพื่อให้มีความมั่นคงด้านอาหารและการดำรงชีพ
จากการบริหารจัดการกลุ่มตั้งแต่ เงินทุน การผลิต การแปรรูปผลผลิต และการตลาด แบบครบวงจรภายใต้หลักการ "ใช้ชีวิตพอเพียง ครอบครัวมีสุข ชุมชนเข้มแข็ง สังคมแบ่งปัน" จนประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรม คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเกษตรกร บุคคลทางการเกษตร และสถาบันเกษตรกรที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี 2564 สสก. 3 จ.ระยอง จึงได้พิจารณาให้เป็นสถาบันเกษตรกรดีเด่น สาขากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่น ระดับเขต ประจำปี 2564 ของภาคตะวันออก
“กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทรายมูลพัฒนา ปัจจุบันมีสมาชิก 80 ราย เกิดจากการรวมกัน เพื่อจัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร โดยสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก ประกอบด้วยอาชีพทำนา ทำไร่ ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ รับจ้างในภาคการเกษตร และจักสานไม้ไผ่ในครัวเรือนเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว ซึ่งการรวมกลุ่มกันในครั้งแรกนั้นมีวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้เทคโนโลยีการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตการเกษตรในครัวเรือน เพื่อแก้ไขปัญหาในการประกอบอาชีพการเกษตร และสร้างอาชีพเสริมให้ครอบครัว สมาชิกมีการทำการเกษตรที่หลากหลาย แต่ก็ยังประสบปัญหาในด้านปัจจัยการผลิต และต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งยังขาดองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพ อาทิเช่นการปัญหาภาวะดินเสื่อมโทรม การป้องกันและกำจัดโรคแมลงระบาด จึงเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการจัดตั้งกลุ่มเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2535 ในชื่อ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทรายมูลพัฒนา” นายปิยะ สมัครพงศ์ กล่าว
ผอ.สสก.3 จ.ระยอง เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทรายมูลพัฒนา มีการบริหารจัดการเงินกองทุนหมุนเวียนการออมทรัพย์ และจัดกิจกรรมตามแผนพัฒนาอาชีพตามที่สมาชิกในกลุ่มสนใจ ซึ่งเห็นผลเชิงประจักษ์ชัดเจน มีรายได้เพิ่มขึ้น จากการที่สมาชิกประกอบอาชีพตามความถนัดและรวมกลุ่มกัน ประกอบด้วย ได้แก่ กลุ่มปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ กลุ่มเพาะเลี้ยงกบ กลุ่มจักสานจากไม้ไผ่ กลุ่มปลูกไม้ดอกไม้ประดับ กลุ่มปลูกไผ่และแปรรูปหน่อไม้อัดปี๊บ และกลุ่มรวบรวมผลผลิตต่างๆของสมาชิกเพื่อไปจำหน่าย
ซึ่งทุกกิจกรรมเป็นการสนับสนุนตามความถนัดของสมาชิก ตามความสนใจและสมัครใจ มีการสร้างกลุ่มให้มีความเชื่อมโยงเกื้อกูลกันทั้งด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของกลุ่มให้กับกลุ่มองค์กรเกษตรกร คนในชุมชน และบุคคลที่สนใจทั่วไปได้ศึกษาเรียนรู้ โดยวิทยากรประจำกลุ่ม ผลจากการที่สมาชิกมีความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพของตนเอง นำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตให้ครอบครัว ชุมชนและสังคม มีความสุข กินดี อยู่ดี มีอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ ยังผลให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้กรมส่งเสริมการเกษตร ได้กำหนดให้มีการดำเนินการคัดเลือกเกษตรกร บุคคลทางการเกษตร และสถาบันเกษตรกรที่มีผลงานดีเด่นเป็นประจำทุกปี เพื่อเผยแพร่และยกย่องเชิดชูเกียรติ ให้เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณชน เกิดความภาคภูมิใจในอาชีพตนเอง ตลอดจนเป็นเกษตรกรต้นแบบ เป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาผลงานจากตัวอย่างจริง เพื่อพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานของเกษตรกร บุคคลทางการเกษตร และสถาบันเกษตรกรต่อไป
“สำหรับกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทรายมูลพัฒนา มีลักษณะโดดเด่นอีกประการคือ กลุ่มได้อาศัยกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมของสมาชิก และความสามารถในการบริหารจัดการกลุ่ม โดยอาศัยทรัพยากรที่มีภายในชุมชน ส่งผลให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ในทุกสภาวะการณ์ ทาง สสก. 3 จ.ระยอง จะทำการขยายผลความสำเร็จนี้สู่การปฏิบัติใช้ของเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป " นายปิยะ สมัครพงศ์ กล่าว