‘เทเลนอร์’ ขาย ‘ดีแทค’ เป็นไปได้แค่ไหน?
เรียกเสียงฮือฮาอย่างมาก หลังมีสื่อต่างประเทศรายงานว่า “เทเลนอร์ กรุ๊ป” ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC จะโบกมือบ๊ายบาย! ประเทศไทย
เตรียมขายหุ้นทั้งหมดใน DTAC มูลค่ารวม 2 พันล้านดอลลาร์ หรือ ราว 6.6 หมื่นล้านบาท จนส่งผลให้ราคาหุ้น DTAC พุ่งแรงติดจรวจ ในการซื้อขายเมื่อวันที่ 29 ก.ค. หลังมีกระแสข่าวลือแพร่สะพัดออกมา โดยระหว่างวันราคาหุ้นขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 36.75 บาท ก่อนปิดการซื้อขายที่ 35.75 บาท เพิ่มขึ้น 3.75 บาท หรือ 11.72%
ก่อนที่สุดท้ายแล้วทางเทเลนอร์ออกมาสยบข่าวลือ โดย เกลนน์ แมนเดลิด ผู้อำนวยการสายงานสื่อสารองค์กร เทเลนอร์ เอเชีย ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า เทเลนอร์ กรุ๊ป จะไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวลือหรือการเก็งกำไรในตลาด พร้อมยืนยันว่าเทเลนอร์ยังคงมุ่งมั่นในการทำธุรกิจในประเทศไทย และกลยุทธ์ในตลาดเอเชียยังไม่เปลี่ยนแปลง
ถือเป็นการคอนเฟิร์มว่า ขณะนี้ เทเลนอร์ กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ด้านสื่อสารโทรคมนาคมของนอร์เวย์ จะยังคงปักหลักเดินหน้าดำเนินกิจการในประเทศไทยต่อไป หลังเข้าลงทุนในหุ้น DTAC มาร่วม 20 ปี ตั้งแต่ปี 2544 จนมาถึงปัจจุบันกิจการของ DTAC ในไทยยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้และผลกำไรหลักให้กับเทเลนอร์
ทั้งนี้ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เทเลนอร์ถือหุ้น DTAC ผ่าน TELENOR ASIA PTE LTD ในสัดส่วน 45.87% และลงทุนทางอ้อมผ่าน บริษัท ไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ จำกัด อีกส่วนหนึ่ง ดังนั้น เมื่อลองคำนวณย้อนกลับมาดู หากกระแสข่าวขายกิจการมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ เป็นจริง เท่ากับว่าราคาหุ้น DTAC ที่เทเลนอร์จะขายออกมาต้องมากกว่า 40 บาทต่อหุ้นแน่นอน ซึ่งสูงกว่าราคาในกระดาน จึงเป็นอีกแรงหนุนให้ราคาหุ้นพุ่งแรง
ต้องยอมรับว่ากระแสข่าวขายกิจการ DTAC ในไทยของเทเลนอร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีข่าวแพร่สะพัดออกมาเป็นระยะ ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย ทั้งการแข่งขันด้านราคา การพัฒนาโครงข่าย การประมูลไลเซ่นส์ ไปจนถึงความเร็วอินเตอร์เน็ตเพื่อมัดใจผู้บริโภค
จนทำให้บริษัทเพลี่ยงพล้ำถูก “TrueMove H” ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ชิงมาร์เก็ตแชร์ขึ้นไปเป็นอันดับ 2 และถูก “AIS” ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ที่เป็นเจ้าตลาดทิ้งห่างไปเรื่อยๆ จึงไม่แปลกที่จะมีกระแสข่าวออกมาว่า หรือจะถึงเวลาแล้วที่เทเลนอร์จะต้องยอมยกธงขาว?
แต่ประเด็นนี้ ชารัด เมห์โรทรา ซีอีโอคนปัจจุบันของ DTAC เคยให้มุมมองไว้ว่า อันดับเป็นเพียงแค่ตัวเลขเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้ DTAC ต้องสู้กับตัวเองก่อน ถ้ามีบริการที่ดี มีคุณภาพ สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ เดี๋ยวอันดับจะดีขึ้นเอง ดังนั้นแค่เรื่องมาร์เก็ตแชร์คงไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้เทเลนอร์ยอมถอย
สำหรับกระแสข่าวลือรอบล่าสุดนี้ ถูกนำมาเชื่องโยงกับการที่เทเลนอร์ขายกิจการในเมียนมาให้กับ M1 Group จากประเทศเลบานอน มูลค่า 105 ล้านดอลลาร์ หรือ ราว 3.4 พันล้านบาท เมื่อต้นเดือนก.ค. ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลทางการเมือง เพราะตั้งแต่เกิดรัฐประหารส่งผลกระทบต่อธุรกิจโทรคมนาคมเต็มๆ เนื่องจากถูกจำกัดการให้บริการ มีการสั่งปิดเครือข่าย ซึ่งเทเลนอร์มองว่าสถานการณ์ในเมียนมาคงไม่ได้ดีขึ้นในเร็ววันนี้จึงยอมถอนตัวออกมา
ดังนั้นการขายธุรกิจในเมียนมาคงไม่เกี่ยวกับกิจการในประเทศไทย เพราะในไทยแม้จะถูกคู่แข่งชิงส่วนแบ่งไปเยอะ แต่ DTAC ยังเป็นกิจการหลักที่สร้างรายได้ให้กับเทเลนอร์ และมีสัดส่วนรายได้มากที่สุดในตลาดเอเชีย
แต่ถามว่ามีโอกาสเป็นไปได้ไหม? ที่เทเลนอร์จะขายหุ้น DTAC ต้องตอบว่าทุกอย่างมีโอกาสเกิดขึ้นได้หมด แต่ที่น่าสนใจ คือ ถ้าขายจริงจะขายให้ใคร ซึ่งดูแล้วโอกาสที่เป็นไปได้มากที่สุดคงหนีไม่พ้นโอเปอเรเตอร์มือถือในตลาดด้วยกัน เพราะไม่ใช่ธุรกิจง่ายๆ ที่ใครจะเข้ามา ต้องอาศัยความชำนาญ และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับทุกๆ ฝ่าย
โดยบล.เอเซีย พลัส ระบุว่า กระแสข่าวที่ออกมามีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย เพราะหากผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งในประเทศเข้าซื้อ DTAC จะส่งผลให้มีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% เข้าข่ายผูกขาดทางการค้า ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ซึ่งอาจจะตามมาด้วยเงื่อนไขที่จำกัด Synergy ในการทำธุรกิจ
ขณะที่ในระยะสั้น ADVANC อาจติดปัญหาโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลง ส่วน TRUE ยังมีความท้าทายจากภาระหนี้สินที่ยังสูง