เช็ค 'อาการโควิดเดลตา' เบื้องต้น เหมือนหรือต่างกับ 'สายพันธุ์โควิด' อื่นๆ ในไทย
ชวนอัพเดท "อาการโควิด" แยกตามสายพันธุ์โควิด-19 ที่ระบาดในไทย 4 สายพันธุ์ คือ "เดลตา" จากอินเดีย "อัลฟา" จากอังกฤษ "เบตา" จากแอฟริกาใต้ และสายพันธุ์ดั้งเดิม (อู่ฮั่น) เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ?
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนเช็ค "อาการโควิด" กันดูอีกครั้ง ว่า ในจำนวน "4 สายพันธุ์โควิด" ที่พบในประเทศไทยในขณะนี้นั้น มีลักษณะอาการอย่างไร
หลังจากการอัพเดทล่าสุด สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในไทย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 30 ก.ค. ถึงผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการว่า แนวโน้มในภาพรวมของประเทศจากข้อมูลการเฝ้าระวังระหว่างวันที่ 17 - 23 กรกฎาคม 2564 จากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อทั้งหมด 3,206 ราย พบข้อมูลดังนี้
- สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) พบจำนวน 2,215 ราย (69.1%) ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว
- สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) พบจำนวน 905 ราย (28.2%)
- สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) จำนวน 86 ราย(2.7%)
โดยหลายคนที่มีความกังวล ว่า อาการแบบนี้ ฉันติด COVID-19 หรือยังนะ??
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนดูเช็คลิสต์ดู อาการของโควิด แต่ละสายพันธุ์ COVID-19 ที่ระบาดอยู่ในไทยกันว่ามีอาการเป็นแบบไหนบ้าง เพื่อสังเกตอาการของเราเองในเบื้องต้น โดยอ้างอิงจากข้อมูลจากเฟซบุ๊คเพจ ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ มีรายละเอียด ดังนี้
- สายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) จะมีอาการเหมือนไข้หวัดธรรมดา อาการที่พบ
1.มีน้ำมูก
2.เจ็บคอ
3.ปวดหัว
4.การรับรสชาติปกติ
- สายพันธุ์อัลฟา (สายพันธุ์อังกฤษ)
1.มีไข้ มีน้ำมูก
2.ไอ เจ็บคอ
3.หนาวสั่น
4.ปวดหัว ปวดเมื่อยตัว
5.อาเจียน การรับรสและการได้กลิ่นผิดปกติ
- สายพันธุ์เบตา (สายพันธุ์แอฟริกาใต้)
1.เจ็บคอ
2.ตาแดง ผื่นแดงขึ้นตามตัว
3.ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว
4.ท้องเสีย นิ้วมือนิ้วเท้าเปลี่ยนสี
5.ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รสชาติ
- สายพันธุ์ S (สายพันธุ์ดั้งเดิมที่ระบาดระลอกแรกในไทย)
1.ไอต่อเนื่อง
2.ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่ได้กลิ่น
3.หายใจลำบาก มีไข้สูงถึง37.5 °C ขึ้นไป
ทั้งนี้ แม้ว่าอาการของโควิดจะหนักหรือน้อย ขึ้นอยู่กับทั้งสายพันธุ์ และสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน แต่ป้องกันไว้ดีที่สุด โดยที่สำคัญต้องหมั่นล้างมือให้สะอาด ใส่หน้ากากอนามัยให้กระชับตลอดเวลา ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
หากสงสัยหรือต้องการแจ้งขอความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่สายด่วนการแพทย์ฉุกเฉินโทร 1669 , ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ เจ็บป่วยฉุกเฉิน กด 1 เจ็บป่วยโควิด กด 2