ถอดโมเดลฟื้นฟู ท่องเที่ยวจีน โกยเงิน 3.3 ล้านล้านหยวน แม้กระทบจากโควิด
ตั้งแต่ต้นปี 2563 การแพร่ระบาด "โควิด" ส่งผลอย่างหนักหน่วงทั้งระบบเศรษฐกิจ ระบบสาธารณสุข การท่องเที่ยว และการใช้ชีวิตประจำวันของคนจีน
การแพร่ระบาดของ "โควิด 19" จีนเป็นประเทศแรกที่พบการแพร่ระบาด ตามมาด้วยนานาประเทศ และรวมถึงประเทศไทยบ้านเราซึ่งกำลังเผชิญระลอกใหม่อย่างหนัก ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละหลักหมื่นราย
โดยหนึ่งในธุรกิจทั่วโลกที่ได้รับแรงกระแทกแบบไม่ทันตั้งตัว ลากยาวจากจุดเริ่มต้นจน ณ ขณะนี้ คือ “ธุรกิจการท่องเที่ยว” เนื่องจากประเทศโดยส่วนใหญ่ยังคงพบการแพร่ระบาด และถึงแม้ประเทศตนเองจะสถานการณ์ดีขึ้น แต่ถ้ารอบโลกยังไม่ดี การเดินทางเที่ยวระหว่างประเทศจึงยังเป็นเรื่องต้องห้าม
อย่างเช่นประเทศจีน ยังคงปิดประเทศ ทั้งเข้าและออก โดยจะอนุญาตเป็นบางวีซ่า แน่นอนว่า วีซ่าท่องเที่ยว ไม่มีในรายนามการอนุญาต ทำให้หลายประเทศที่เคยได้รับอานิสงส์จากการเป็นประเทศใช้จ่ายท่องเที่ยวนอกประเทศมากที่สุดในโลกของประเทศจีนในช่วงก่อนโควิด กลายเป็นศูนย์
ในวันนี้อ้ายจงเลยขอตีแผ่เรื่องราว ธุรกิจการท่องเที่ยว ในประเทศจีนว่า พวกเขาปรับตัวกันเช่นไร ในยุคที่ไม่สามารถสร้างรายได้จากการทำทัวร์ไปต่างประเทศ และในขณะเดียวกันรับทัวร์จากต่างประเทศเข้าไปเที่ยวบ้านเขาก็ไม่ได้เช่นกัน เรียกได้ว่าสามารถนำมาเป็น “โมเดลตัวอย่าง” ให้แก่ผู้ประกอบการไทยได้เช่นกัน
จากปัญหาข้างต้น ทางออกที่ทางการจีนและตัวผู้ประกอบการท่องเที่ยวจีนมองเห็น คือ “กระตุ้นชาวจีนเที่ยวในประเทศให้มากที่สุด” กล่าวคือจีนเลือกหนทางฟื้นฟูและพัฒนาการท่องเที่ยวภายในประเทศหลังฟื้นจากโควิด ตัวเลขเม็ดเงินในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจีนปี 2564 ทะลุ 3.3 ล้านล้านหยวน (ราว 16.7 ล้านล้านบาท) ที่คาดการณ์จากสถาบันการท่องเที่ยวแห่งประเทศจีน (China Tourism Academy) บ่งชี้การมาถูกทางของแผนการจีน ทว่ากรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียวฉันใด การกอบกู้ธุรกิจท่องเที่ยวให้กลับมาได้ท่ามกลางสถานการณ์โควิดก็ไม่ใช่เรื่องทำได้รวดเร็วฉันนั้น โดยจีนเริ่มทำแบบนี้ครับ
1. รัฐบาลจีนมอบเงินช่วยเหลือ 7 พันล้านหยวน (ราว 3.5 หมื่นล้านบาท) แก่ผู้ประกอบการทัวร์กว่า 29,000 ราย เพื่อนำไปคืนเงินแก่ลูกค้าทึ่ซื้อทัวร์แต่ไม่สามารถให้บริการได้ เนื่องจากนโยบายปิดเมือง-ปิดประเทศ นโยบายช่วยเหลือทางการเงิน เป็นฟันเฟืองสำคัญในการไปต่อได้ของผู้ประกอบการท่องเที่ยวจีน
2. ช่วงระบาดหนัก ทั่วประเทศปิดเมืองทุกคนอยู่บ้าน แต่สถานที่ท่องเที่ยว และหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ไม่หยุดนิ่ง พากันสร้าง Content เสิร์ฟไปยังโลกออนไลน์ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเคยไปเที่ยวและยังไม่เคย ให้มี “ความอยากไปเที่ยว” โดยมีทั้ง Live สด จากเจ้าหน้าที่สถานที่ท่องเที่ยวในเมืองที่สถานการณ์ไม่หนักมาก เช่น ทิเบต พาเที่ยวแบบเที่ยวทิพย์ พอจีนสถานการณ์ดีขึ้นทั่วประเทศ คนจะได้ออกไปเที่ยวตามที่โดนกระตุ้นความอยากเมื่อครั้งต้องล็อกดาวน์ ทำให้เราได้เห็นอัตราการเพิ่มขึ้นนักท่องเที่ยวในทิเบต เพิ่ม 10% ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ช่วงก่อนโควิด
3. ช่วงเทศกาลเชงเม้ง ราวเดือนเมษายน 2563 เป็นครั้งแรกที่หลายเมืองของจีนอนุญาตให้ประชาชนออกจากบ้านไปเที่ยวได้ แต่ใช้มาตรการคุมเข้ม ทั้งออกกฎห้ามฝ่าฝืนการใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ และการตรวจอุณหภูมิ ตรวจโค้ดสถานะร่างกาย หรือ QR Health Code
4. ช่วงสามเดือนแรกหลังโควิดดีขึ้น คนจีนเริ่มออกไปเที่ยวนอกบ้านได้ก็จริง แต่ต้อง “จองผ่านแอป” อย่างเมืองอู่ฮั่น ชาวเมืองต้องดูในแอปก่อนว่า สถานที่ท่องเที่ยวที่อยากไป มีคนไปเที่ยวเกินขีดจำกัดที่สามารถรับได้ช่วงควบคุมการแพร่ระบาดโควิดหรือไม่ โดยทั่วไปสถานที่ท่องเที่ยวจะเปิดรับนักท่องเที่ยวครึ่งเดียวของสถานการณ์ปกติ
5. จีนใช้มาตรการ “ผ่อนปรนการท่องเที่ยวแบบค่อยเป็นค่อยไป” กล่าวคือ เริ่มจากอนุญาตให้เที่ยวภายในเมืองเดียวกัน พอสถานการณ์เริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันสักพักใหญ่ๆของแต่ละเมืองภายในแต่ละมณฑล ก็ขยายให้สามารถเที่ยวต่างเมืองภายในมณฑลเดียวกันได้
และเมื่อยอดผู้ติดเชื้อภายในพื้นที่จีนเริ่มลดลงจนเหลือศูนย์ หรือบางพื้นที่อาจจะหลักหน่วย หรือมีเป็นระลอกบ้าง แต่ไม่เยอะเท่าเดิม จีนอนุญาตให้ทุกคนในจีนสามารถเดินทางข้ามมณฑลได้เป็นครั้งแรก ในช่วงวันหยุดยาววันชาติจีน เดือนตุลาคม 2563 (สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งยังคงจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว แต่เพิ่มขึ้นเป็น 75% ของสถานการณ์ปกติ)
6. ทางการจีนพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสชั้นยอด ใช้ข้อจำกัด “คนจีนเที่ยวได้แค่ในประเทศ” สร้างสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจีน และเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ “ท่องเที่ยวชนบท” เติบโตถึง 300% แบบปีต่อปี จากการเปิดเผยตัวเลขของ Trip.com แพลตฟอร์มเอเจนซี่ท่องเที่ยวออนไลน์รายใหญ่ของจีน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา
นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวชนบท ทางการจีนได้พยายามทำขึ้นก่อนช่วงโควิดด้วยซ้ำ เป็นส่วนหนึ่งของ “นโยบายแก้จนอย่างยั่งยืน” จีนสนับสนุนแต่ละชุมชนตามเขตพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ยากจนของจีนรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างเป็นวิสาหกิจชุมชนในการสร้างธุรกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพ อาทิ กลุ่มการเกษตร กลุ่มหัตถกรรม และ “การท่องเที่ยวชุมชน” ทำหมู่บ้านหรือย่านชุมชนนั้นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
มาถึงช่วงโควิด ผู้นำท้องถิ่นภายในเขตต่างจังหวัดและชนบท เลือกใช้สื่อโซเชียล เช่น TikTok เพื่อ Live สด ขายสินค้าประจำถิ่นช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ช่วงโควิด และเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวชนบทไปในตัวด้วย และพอสถานการณ์โควิดจีนดีขึ้นจนกลับมาสู่สภาวะปกติเกือบ 100% ทางรัฐบาลกลางของจีน ให้นโยบายแก่รัฐบาลท้องถิ่นพัฒนาการท่องเที่ยวในเขตชนบทพื้นที่ของตนเอง โดยรัฐบาลกลางช่วยในเรื่องประชาสัมพันธ์และอำนวยความสะดวกในวงกว้าง อย่างการจัดสรรงบประมาณไปยังรัฐบาลท้องถิ่น และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างถนนหนทางให้อำนวยต่อการไปเที่ยว
7. การสร้างความเชื่อมั่นให้คนกล้าออกจากบ้าน และเชื่อว่ารัฐบาลคุมโควิดได้ อันเห็นได้จากการจำกัดพื้นที่และล็อกดาวน์บางเมือง บางหมู่บ้านในทันที่ หากพบผู้ป่วยโควิดรายใหม่ในแต่ละพื้นที่ ทำควบคู่กับการระดมตรวจหาเชื้อและฉีดวัคซีนโควิดจนประเทศจีนสามารถฉีดไปได้ถึง 1.6 พันล้านโดสแล้ว ด้วยเหตุนี้ คนจีนเลยกล้าถอดหน้ากาก กล้าออกจากบ้านไปใช้ชีวิตปกติ ส่งผลโดยตรงต่อการท่องเที่ยว
ในความเป็นจริง ประเทศไทยคงไม่สามารถทำตามจีนได้ทั้งหมด ด้วยความแตกต่างทั้งการบริหารงานของผู้มีอำนาจ จำนวนประชากรในประเทศ งบประมาณและทรัพยากรต่างๆที่ภาครัฐมีอยู่ในมือ แต่มันเป็นไปได้ในการเรียนรู้และนำมาปรับใช้ตามแบบที่เหมาะกับสิ่งที่ประเทศไทยกำลังเป็น อย่างน้อย “การเปิดการท่องเที่ยวแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ประมาท” ก็น่าจะเป็นขั้นพื้นฐานที่สุดซึ่งเราควรทำได้