ไทยออยล์ ร่วมทุนธุรกิจโอเลฟินส์ในอินโดนีเซีย หนุนคงอันดับความน่าเชื่อถือ

ไทยออยล์ ร่วมทุนธุรกิจโอเลฟินส์ในอินโดนีเซีย หนุนคงอันดับความน่าเชื่อถือ

ไทยออยล์ ได้รับการคงอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) จาก S&P และ Moody’s สำหรับการเข้าลงทุนใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk ผู้ผลิตสารโอเลฟินส์รายใหญ่ที่ประเทศอินโดนีเซีย

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 บริษัท S&P Global Ratings (S&P) ได้ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ที่ BBB โดยมีมุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) ระดับมีเสถียรภาพ (Stable) และวันที่ 3 สิงหาคม 2564 บริษัท Moody's Investors Service (Moody's) ได้ประกาศคงอันดับ Credit Rating ของบริษัทฯ เช่นกันที่ Baa3 และมีมุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) เชิงลบ (Negative)

โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้ง  2 สถาบันมีมุมมองที่คล้ายกันว่า การเข้าลงทุนในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (“CAP”) ในครั้งนี้ สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯ ที่ต้องการมีโครงสร้างธุรกิจที่มีความสมบูรณ์ ครอบคลุมธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมี รวมถึงสร้างโอกาสการเติบโตในประเทศอินโดนีเซีย   

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนการจัดหาเงินทุนสําหรับการปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาว (Recapitalization Plan) ที่ชัดเจน รวมถึงแผนการจัดหาเงินทุนดังกล่าว ยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัทฯ อีกด้วย

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดจะดำเนินการเข้าลงทุนใน CAP แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2564 และรับรู้ผลการดำเนินการของ CAP ตามสัดส่วนการถือหุ้นได้ในไตรมาส 4 ปี 2564

162804895366

สำหรับ ไทยออยล์ เป็นผู้ประกอบธุรกิจการกลั่นและจำหน่ายนํ้ามันปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2504 โดยมีธุรกิจหลักคือ การกลั่นนํ้ามันปิโตรเลียม ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 275,000 บาร์เรลต่อวัน

นอกจากนี้ ไทยออยล์มีระบบการบริหารจัดการที่มุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ (Operational Excellence) โดยบริหารงานเป็นกลุ่มที่มีการเชื่อมโยงธุรกิจ ทั้งธุรกิจการกลั่นน้ำมัน ธุรกิจปิโตรเคมีและธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน โดยร่วมวางแผนการผลิตก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีต้นทุนต่ำ ขณะเดียวกันมีคุณภาพสูงในระดับโรงกลั่นชั้นนำ (Top quartile) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทำให้ได้เปรียบเชิงต้นทุนการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

อีกทั้ง ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องหลากหลาย เช่น ธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจสารทำละลาย ธุรกิจบริหารการขนส่งทางท่อ ธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์สารทำความสะอาด ธุรกิจบริการจัดเก็บนํ้ามันดิบ นํ้ามันปิโตรเลียม และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และธุรกิจให้บริการด้านการสรรหาและคัดเลือกบุคลากรสำหรับกลุ่มไทยออยล์

162804896479

ส่วน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk ("CAP") เป็นผู้ประกอบธุรกิจด้านปิโตรเคมีชั้นนำรายใหญ่ที่สุดในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 29 ปี มียอดขายรวมในปี 2563 มากกว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ CAP เป็นผู้ดำเนินกิจการโรงงานแยกแนฟทา (Naphtha Cracker) เพียงแห่งเดียวของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งผลิตภัณฑ์ครอบคลุมตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ อาทิ โพลิเอททิลีน (PE) โพลิโพรไพลีน (PP) สไตรีนโมโนเมอร์ (SM) และบิวทาไดอีน (BD) และผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์อีกหลายชนิด

โดยมีโรงงานตั้งอยู่ที่ เมือง Cilegon ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมชายฝั่งที่สำคัญในจังหวัด Banten ทางด้านตะวันตกของเกาะชวา ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 3 ลำดับแรก ประกอบด้วย PT Barito Pacific Tbk ถือหุ้นที่สัดส่วน 41.88% บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ถือหุ้นที่สัดส่วน 30.57% และ Prajogo Pangestu ถือหุ้นที่สัดส่วน 13.33%