ผลหลังฉีด'วัคซีนโควิด'สูตรสลับชนิดแล้วกว่า 1 แสนราย

ผลหลังฉีด'วัคซีนโควิด'สูตรสลับชนิดแล้วกว่า 1 แสนราย

สธ.เผยไทยฉีดวัคซีนโควิด19สูตรสลับชนิดแล้วกว่า 1 แสนคน ยังไม่มีปัญหา ย้ำมีความปลอดภัย –ประสิทธิภาพสูง ส่วนการฉีดบูสเตอร์โดสพิจารณาหลัง 3-6เดือน ภายใต้ข้อมูลวิชาการรองรับ

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงความกังวลของคนไทยในการฉีดวัคซีนสูตรSA คือ ซิโนแวคเข็มที่ 1 และแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 ว่า ความกังวลมี 2 ส่วน คือ 1.ความปลอดภัย ด้วยวัคซีนแต่ละชนิดที่ฉีดในขณะนี้ยังเป็นการใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่มีความปลอดภัยสูง สำหรับประเทศไทยมีการฉีดสะสมเกือบ 20 ล้านโดส ยังไม่พบการเสียชีวิตจากวัคซีนโดยตรง ดังนั้น วัคซีนที่ใช้เป็นสูตรสลับ 2 ชนิดมีความปลอดภัย

      “ความกังวลว่าฉีดวัคซีนสลับชนิดแล้วมีความปลอดภัยหรือไม่ ตามข้อมูลล่าสุด ฉีดวัคซีนสูตรสลับไปแล้วมากกว่า 1 แสนคน ยังไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ ข่าวที่ระบุว่ามีการเสียชีวิตนั้น มีผลการชันสูตรพลิกศพพิสูจน์ชัดเจนว่าเกิดจากเนื้องอกในสมอง ซึ่งไม่เกี่ยวกับวัคซีน ดังนั้น มีความปลอดภัย”นพ.โอภาสกล่าว 

       

 

และ 2.ประสิทธิภาพของวัคซีนสลับชนิด ข้อมูลจากการศึกษาชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม และจะมีการตีพิมพ์เป็นเอกสารวิชาการในเร็วๆ นี้ โดยพิสูจน์แล้วว่าการฉีดวัคซีนสลับชนิด สูตร SA ประสิทธิผลในห้องแล็ป พบว่า มีการสร้างภูมิคุ้มกันได้เทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ 2 เข็มห่างกัน 12 สัปดาห์ ฉะนั้น ไม่มีปัญหาด้านประสิทธิภาพ ประเทศไทยจึงพยายามใช้สูตรนี้ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กลุ่มเป้าหมายโดยเร็วที่สุด

   

ต่อข้อถามการบูสเตอร์เข็มที่ 3 สำหรับผู้ที่ฉีดสูตรSAนั้น นพ.โอภาส กล่าวว่า สูตร SA เพิ่งเริ่มฉีด ซึ่งการจะฉีดเข็ม 3 มีคำถามสำคัญว่า จะฉีดหลังจากเข็ม 2 เมื่อไหร่ ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลที่บอกได้ชัดเจน แต่ทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 3 - 6 เดือนหรือนานกว่านั้น ขณะนี้จึงต้องเก็บข้อมูลและติดตามดูว่า ระยะ 3-6 เดือนที่รับวัคซีนไปแล้ว ภูมิคุ้มกันตกลงอย่างไร แล้วต้องกระตุ้นอีกหรือไม่ ทั้งนี้ ก็จะเป็นการศึกษาข้อมูลและวิจัยเพิ่มเติมซึ่งเหมือนกันทั่วโลก

      นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า เบื้องต้นในทางทฤษฎีหากมีการฉีดวัคซีนแพลตฟอร์มต่างกัน ที่เป็นการกระตุ้นภูมิฯ คนละระดับ ก็จะส่งผลดี  วัคซีนซิโนแวค เป็นการกระตุ้นภูมิระดับ Humoral immunity ส่วนแอสตร้าฯ จะเป็นระดับ Cellular immunity ซึ่งมีข้อดีต่างกัน ดังนั้น 2 ตัวนี้ก็จะเสริมกัน ทั้งหมดนี้จะต้องมีการอาศัยข้อมูลทางวิชาการและติดตามข้อมูลอีกระยะหนึ่ง

  "ทฤษฎีของบูสเตอร์ คือไม่ได้เริ่มจากศูนย์  เมื่อมีการฉีดวัคซีนเพิ่มเข้าไปก็จะมีการกระตุ้นภูมิฯ ได้เร็วมาก เพราะเซลล์ร่างกายจดจำไวรัสได้ แต่มีแนวโน้มในการกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วย 2 เหตุผล คือ 1.ไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งหากไม่มีสายพันธุ์เดลต้า โลกเราจะอยู่ง่ายกว่านี้ และ 2.ไม่รู้ว่าข้างหน้าจะมีการกลายพันธุ์ไปอีกอย่างไร เป็นสิ่งที่ทํานายไม่ได้ ดังนั้นต้องติดตามข้อมูลทางวิชาการเพิ่มเติม" นพ.โอภาส กล่าว