เปิด 'ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19'ค้นหาเด็กป่วยเข้าไม่ถึงการรักษาโทร.1300

เปิด 'ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19'ค้นหาเด็กป่วยเข้าไม่ถึงการรักษาโทร.1300

พม. - กสศ.- กรมสุขภาพจิต - ยูนิเซฟ เปิด 'ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19' เชื่อมโยงข้อมูลเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งประเทศ เผยยอดเด็กติดเชื้อปี64 กว่า65,000คน ปูพรมค้นหาเด็กป่วยเข้าไม่ถึงการรักษาให้ได้รับการช่วยเหลือ

จากความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน กรมกิจการเด็กและเยาวชน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ และยูนิเซฟ ร่วมกันจัดตั้ง ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ขึ้น

เพื่อบูรณาการข้อมูลเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเด็กป่วย เด็กกลุ่มเปราะบาง ที่ยังเข้าไม่ถึงการดูแลรักษา เด็กกำพร้า พ่อแม่เสียชีวิตจากโควิด เด็กที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ ไม่มีผู้ดูแล หรือมีแนวโน้มหลุดออกนอกระบบการศึกษา เพื่อปกป้อง ช่วยเหลือได้ทันสถานการณ์ในทุกมิติปัญหา

  • พบเด็กติดเชื้อโควิด-19 สะสมปี 64 กว่า 65,000คน

นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า เรื่องนี้เป็นความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากมีเด็กได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของ โควิด-19 จำนวนมาก มียอดเด็กติดเชื้อสะสมระหว่าง 1 มกราคม – 4 สิงหาคม 2564 มากกว่า 65,086 คน แบ่งเป็น กทม. จำนวน 15,465 คน ส่วนภูมิภาค 49,621 คน โดยจำนวนเด็กติดเชื้อรายวันล่าสุดวันที่ 4 สิงหาคม 2564 อยู่ที่ 2,194 คน แบ่งเป็น กทม. 408 คน และส่วนภูมิภาค 1,786 คน

162815567664

นอกจากนั้น ยังมีเด็กไม่ป่วยแต่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น พ่อแม่หรือผู้ปกครองติดเชื้อ ป่วยหนักหรือเสียชีวิต ทำให้เด็กโดดเดี่ยวหรือกำพร้า เด็กที่เข้าไม่ถึงการรักษา ขาดแคลนอาหาร และหลุดออกนอกระบบ

  • 'ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19' ช่วยค้นหาและช่วยเหลือเด็กป่วย

อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดศูนย์ฯ คือ การปรับปรุงระบบการรับแจ้งเหตุ หรือ Mobile Application คุ้มครองเด็ก เพื่อค้นหา เด็กกำพร้า หรือเด็กกลุ่มเสี่ยงกำพร้าและไม่มีผู้ดูแล ผ่านเครือข่ายคุ้มครองเด็กทั่วประเทศ การประสานการทำงานกับหน่วยงานและเครือข่ายทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด

ทั้งนี้ กรณีเด็กที่ผู้ปกครองติดเชื้อและไม่มีผู้ดูแล จะจัดอาสาสมัครเข้าไปช่วยดูแลเด็กระหว่างการกักตัวในสถานกักตัวของรัฐ หากยังไม่มีผู้ดูแลหรือยังกลับบ้านไม่ได้ ได้จัดเตรียมสถานสงเคราะห์ 4 แห่ง รองรับได้ 160 คน เพื่อให้การดูแลชั่วคราวระหว่างการจัดหาการดูแลในรูปแบบของครอบครัวเป็นลำดับแรก

ติดตามครอบครัวเครือญาติ จัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ หรือส่งเด็กเข้ารับการดูแลในสถานรองรับเด็กของ ดย. ซึ่งรองรับได้ 1,935 คน รวมทั้งการช่วยเหลือเฉพาะหน้า และการจัดบริการสวัสดิการสังคมตามความต้องการของเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีกด้วย

162815572654

  •  'กสศ.ใช้อาสาสมัครช่วยเหลือ ค้นหาเด็กที่ได้รับผลกระทบโควิด-19

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ปัญหาโควิด-19 สร้างความท้าทายต่อบริการภาครัฐ กสศ.จึงจับมือหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ประชาสังคม เพื่อร่วมกันบริหารสถานการณ์ที่มีความซับซ้อนของปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อทำให้เราเข้าถึงเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ และได้รับการดูแลที่เหมาะสมให้เร็วที่สุด

“เรามีกลไกอาสาสมัครคุณภาพของทั้ง 4 หน่วยงานและภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อาสาสมัครชุมชน อาสาสมัครครูทั้งในและนอกระบบ อาสาสมัครสภาเด็กและเยาวชน กทม."ดร.ไกรยศ กล่าว 

  •  'โควิด-19' กระทบเด็กทั้งเรื่องเรียน ครอบครัว ความเครียด

โดย กสศ.ระดมความร่วมมือจากภาคเอกชน ร่วมสนับสนุนทรัพยากรที่ยังขาดแคลนและจำเป็นเร่งด่วนในสถานการณ์ที่วิกฤต และในระยะฟื้นฟู กสศ.จะสนับสนุนทุนสร้างโอกาสทางการศึกษา และโปรแกรมฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยเพื่อป้องกัน เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา จากการสูญเสียผู้ดูแลและเสาหลักครอบครัวเนื่องจากโควิด-19

162815573660

ด้าน พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบกับเด็กในหลายด้าน

1. กระทบกับเด็ก เรื่องการเรียนที่ต้องปรับมาเรียนออนไลน์ เหมือนถูกตัดออกจากครูและเพื่อน ขาดโอกาสในการพัฒนา เด็กเปราะบางหรือยากจนจะยิ่งเป็นปัญหาเพราะไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือ ทำให้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

2. กระทบกับครอบครัว ทำให้ตกงานเกิดสภาพยากจนเฉียบพลัน กลายเป็นความเครียดมาลงที่เด็กได้ หรือสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิต ทำให้เด็กได้รับผลกระทบจากการสูญเสียคนที่รัก 

3. ผลกระทบเชิงสังคม เกิดความเครียดจากสถานการณ์การแพร่ระบาด (Pandemic Stress) มีความเสี่ยงเกิดพฤติกรรมรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งสังคมที่แสดงความโกรธเกรี้ยว เกิด Hate speech ที่จะทำให้เด็กซึมซับความรุนแรง

162815575528

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กในเวลานี้ สูงกว่าเหตุการณ์สึนามิที่มีเด็กได้รับผลกระทบจากคนในครอบครัวเสียชีวิตประมาณ 5,000 คน แต่วิกฤตโควิด -19 นี้มีเด็กที่มีคนในครอบครัวเสียชีวิตสูงเกินกว่า 5,000 ครอบครัว และยังคงเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง

  • ช่วยเหลือทั้งด้านจิตใจและดูแลรักษา โทร.สายด่วน 1300

“จำเป็นที่จะต้องเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือพวกเขาให้เดินหน้าต่อไปได้ แม้ครอบครัวจะสูญเสียมากน้อยแค่ไหนก็ตาม บทบาทของสถาบันสุขภาพจิตเด็กฯ ดูแลสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น ทั้งสถานการณ์ปกติและวิกฤต ดังนั้นเมื่อมีฐานข้อมูลเข้ามา เราจะเข้าไปสนับสนุนตั้งแต่การประเมินว่าเด็กรายไหนที่ต้องได้รับการดูแลเฉพาะโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเด็กทุกคนควรต้องได้รับการดูแลเบื้องต้นที่เรียกว่าปฐมพยาบาลทางใจ” พญ.ดุษฎีกล่าว

นายนิโคล่า บลั้น รักษาการหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟประเทศไทย กล่าวว่า พร้อมสนับสนุนภาครัฐและหน่วยงานอื่น ๆ ในการดำเนินงานเพื่อให้เด็กได้รับการดูแลที่เหมาะสม ทั้งนี้มาตรการช่วยเหลือเด็ก จำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยจากการติดเชื้อ ควบคู่ไปกับผลกระทบด้านอื่น ๆ เช่น สุขภาพจิตของเด็กด้วย

อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งกรณีเด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สามารถประสานมาที่ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ที่สายด่วน 1300