ปตท.สผ.ลุ้นสรุปเข้าพื้นที่ 'แหล่งเอราวัณ' ภายใน 1-2 เดือนนี้
ปตท.สผ.หวังบรรลุข้อตก กลุ่มเชฟรอน 1-2 เดือน เข้าพื้นที่ แหล่งเอราวัณ ดูดก๊าซฯ ตามเงื่อนไข PSC พร้อมวางแผนเร่งปั๊มก๊าซฯแหล่งบงกช และแหล่งอาทิตย์ ทดแทนก๊าซฯหาย 300 ล้านลูกบาศกฟุตต่อวัน
นางสาวเมธ์ลดา ชยวัฒนางกูร ผู้จัดการอาวุโสในฐานะผู้จัดการโครงการ G1 (Project Mamager) บริษัท บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการเข้าพื้นที่โครงการแปลง G1/61(แหล่งเอราวัณ) ของ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ ปตท.สผ. อีดี (ในกลุ่ม ปตท.สผ.) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) นั้น
ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่มผู้รับสัมปทานรายเดิม (กลุ่ม เชฟรอนฯ) โดยคาดหวังว่า จะสามารถบรรลุข้อตกลงการเข้าพื้นที่ ระยะที่ 2 กับ เชฟรอนฯ ได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ เพื่อดำเนินการเข้าไปติดตั้งแท่นหลุมผลิต การวางท่อ และการเจาะหลุมผลิตบนแท่นใหม่ ให้ได้ตามเงื่อนไขสัญญา PSC ที่กำหนดให้ผู้รับสิทธิรายใหม่ ต้องรักษาอัตราการผลิตก๊าซฯ ไม่ต่ำกว่า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่อง 10 ปี นับจากสิ้นสุดสัมปทานเดิม หรือ การผลิตก๊าซฯต้องไม่สะดุดในช่วงเปลี่ยนผ่านมือจากผู้รับสัมปทานเดิมไปสู่การบริหารจัดการของผู้รับสิทธิรายใหม่ ในเดือน เม.ย. 2565
“ณ ตอนนี้ ปตท.สผ.ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ตามแผนที่จะเข้าไปติดตั้งท่อและ 8 แท่นได้ในช่วงไตรมาส1 ปีนี้ ฉะนั้น หากวันนี้ ปตท.สผ.เข้าพื้นที่ได้ ก็ไม่ทันแล้ว เพราะต้องใช้เวลาเตรียมการอีก 6-9 เดือน เช่น การจัดหาจัดจ้างอุปกรณ์จำเพาะ เรือติดตั้ง แท่นขุดเจาะ ขณะเดียวกันการติดตั้งแท่น จะไม่ทำในช่วงฤดูมรสุม(ต.ค.-ก.พ.)”
อย่างไรก็ตาม หากสามารถบรรลุข้อตกลงการเข้าพื้นที่ ระยะที่ 2 ได้ ปตท.สผ.ก็จะพยายามบริหารจัดการกระบวนการต่างๆให้ดีที่สุด เพื่อให้สามารถกลับมาผลิตก๊าซฯได้ตามเงื่อนไข PSC โดยเร็วที่สุด โดยมองว่า หากสามารถบรรลุข้อตกลงได้ ภายใน 1-2 เดือนนี้ ก็จะมีเวลาเข้าดำเนินการติดตั้งท่อและแท่นผลิตได้ 2 ช่วง คือ ช่วงก่อนฤดูมรสุม ระหว่างเดือน ก.ย. 2564 และช่วงหลังฤดูมรสุม ระหว่างเดือนมี.ค.-เม.ย.2565
แต่หากกรณีเลวร้ายสุด ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มเชฟรอนฯ ได้ ปตท.สผ.ก็จะสามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ในเดือนเม.ย.2565 ตามเงื่อนไข PSC ที่กำหนดให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมจะต้องส่งคืนพื้นที่ให้กับผู้รับสิทธิรายใหม่ ซึ่งถึงเวลานั้นก็ต้องมาดูว่า สุดท้ายแล้วผู้รับสัมปทานเดิมจะส่งต่อการผลิตก๊าซฯในปริมาณเท่าไหร่ โดยตามข้อมูลที่กลุ่มเชฟรอนฯ ได้แจ้งต่อ ปตท.ตามสัญญาซื้อขายก๊าซฯนั้น ได้ระบุเบื้องต้นว่า จะสามารถจ่ายก๊าซฯก่อนสิ้นสุดสัมปทาน อยู่ที่ 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เท่ากับว่าก๊าซฯ จะหายไปประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ดังนั้น ในส่วนนี้ ปตท.สผ.ได้เตรียมแผนบริหารจัดการ โดยจะเร่งผลิตก๊าซจากแหล่งปิโตรเลียมของตนเองในอ่าวไทย เช่น แหล่งบงกช และแหล่งอาทิตย์ ขึ้นมาทดแทน ซึ่งในส่วนของแหล่งบงกช คาดว่าจะผลิตเพิ่มได้อีก 150 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งอาทิตย์ คาดว่าจะผลิตเพิ่มอีก 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนที่เหลือคาดว่าภาครัฐโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะเตรียมแผนบริหารจัดการเพิ่มเติม เช่น การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เข้ามาทดแทน เป็นต้น
ทั้งนี้ ตามแผนการดำเนินของ ปตท.สผ. ที่จะลงทุนติดตั้ง 8 แท่นนั้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯตามเงื่อนไข PSC และในแต่ละปีก็มีแผนที่จะต้องลงทุนต่อเนื่อง ในการก่อสร้างและติดตั้งแท่นผลิตประมาณ 8-12 แท่นต่อปี
นางสาวเมธ์ลดา กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ ปตท.สผ.ไม่สามารถดำเนินการผลิตก๊าซฯได้ตามปริมาณกำหนดขั้นต่ำของสัญญาPSC จะต้องชำระค่าปรับอย่างไรนั้น ในส่วนนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของภาครัฐ ซึ่ง ปตท.สผ.จะต้องรอรับฟังการพิจารณาต่อไป