'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' จ่อยื่น อย.ขึ้นทะเบียน 'ซิโนฟาร์ม' ในเด็ก
'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' เตรียมยื่นขึ้นทะเบียนวัคซีน 'ซิโนฟาร์ม' ในเด็กกับ อย. เผยอยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสาร คาดเร็วๆ นี้ ย้ำ คุมการระบาด ต้องได้วัคซีนเร็วและครอบคลุมที่สุด
วันนี้ (5 ก.ค.64) “ศ.นพ.นิธิ มหานนท์” เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวในงานชี้แจงข้อมูลการพัฒนาตำรับ ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ สำหรับผลิตใน รพ. จุฬาภรณ์ ต้านเชื้อไวรัสสำหรับเด็ก และผู้ป่วยที่มีความลำบากในการกลืนยาเม็ด ตำรับแรกในประเทศไทย โดยกล่าวถึงประเด็น วัคซีนซิโนฟาร์มในเด็ก ว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารวัคซีนซิโนฟาร์มให้ครบถ้วน เพื่อยื่นต่อคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขึ้นทะเบียนการให้บริการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กเร็วๆ นี้ ซึ่งในประเทศจีนก็ได้มีการขยายไปในกลุ่มเด็กแล้ว
เนื่องจากวัคซีนยังมีความสำคัญกับเด็กเช่นเดียวกับกลุ่มอื่นๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่สำคัญเช่นเดียวกับกลุ่มอื่น เพราะแม้เด็กที่ติดเชื้อจะมีอาการน้อย แต่ก็แพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ คนทุกคนควรจะได้วัคซีนในปริมาณที่รวดเร็วและเยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถึงจะไปรอดพร้อมกัน
ข้อมูลในต่างประเทศที่มีแล้ว คือ คนที่เป็นติดเชื้อหลังได้รับวัคซีนครบแล้ว ไม่ว่าจะสหรัฐอเมริกา หรือ อังกฤษ เกิดจากคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนนำมาแพร่ จึงชี้ให้เห็นว่า เราคนใดคนหนึ่งได้ กลุ่มใดคนหนึ่งได้วัคซีน ไปไม่รอด สังคมนี้ต้องได้วัคซีนให้มาก และเด็กเป็นจุดหนึ่ง ที่เราย้ำตั้งแต่การจัดสรรวัคซีน 'ซิโนฟาร์ม' คือเล็งไปที่ สถานศึกษา เพราะว่าเด็กมีอาการน้อย เป็นคนที่ไปแพร่เชื้อ
"เพราะฉะนั้น คำตอบ คือ ต้องให้ได้ให้หมดในวงกว้าง ขณะนี้ มีวัคซีนหลายชนิด กำลังศึกษาในเด็ก 3 เดือนแล้ว และในที่สุดคงจะได้ทั้งหมด และต้องได้โดยเร็ว เพราะคนที่ได้แล้ว ผลของวัคซีนจะค่อยๆ ลดลง และเชื้อพันธุ์ใหม่จะเกิด ดังนั้น ต้องได้พร้อมกันทั่วประเทศ ทั่วโลก ต้องได้วงกว้าง ในปริมาณที่รวดเร็ว จึงเร่งการขยายให้วัคซีน ขณะเดียวกัน การศึกษาติดตามผลในเด็กค่อนข้างยาก และซับซ้อนในผู้ใหญ่ ซึ่งขณะนี้ก็มีกระบวนการวิจัยลดอายุไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เด็กอายุ 12 ปี ลงไปเรื่อยๆ และบางที่ลงไปถึง 3 เดือน" ศ.นพ.นิธิ กล่าว