'โควิด-ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว' ทุบค้าปลีกสูญ 2.7แสนล้าน! แสนร้านค้าจ่อ 'ปิดกิจการ'

'โควิด-ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว' ทุบค้าปลีกสูญ 2.7แสนล้าน! แสนร้านค้าจ่อ 'ปิดกิจการ'

อุตสาหกรรมค้าปลีกไทยมูลค่า 4 ล้านล้านบาท! ซมพิษมหันตภัย "โควิด-ล็อกดาวน์" ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกเดือน ก.ค. ติดลบ 70% ดิ่งลงต่ำสุดในรอบ 16 เดือน!!

หลังการแพร่ระบาดลากยาวตั้งแต่ปลายไตรมาสแรกปี 2563 กระทั่งวิกฤติในระลอก 4 ที่เกิดการระบาดอย่างรุนแรง ลามอย่างรวดเร็วเป็นวงกว้าง ยังมองไม่เห็นปลายทางสิ้นสุด ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นเดือน ก.ค. ดิ่งลงต่อเนื่องทุกเดือน! 

ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธาน สมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกขณะนี้เผชิญวิกฤติหนัก! ดัชนีความเชื่อมั่นเดือน ก.ค.ดิ่งลงจุดต่ำสุดในรอบ 16 เดือน ติดลบถึง 70% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 2.7 แสนล้านบาท กว่า 1 แสนร้านค้าเตรียมปิดกิจการ กระทบการจ้างงานกว่า ล้านคน!

เป็นโจทย์ใหญ่และวาระเร่งด่วนจะร่วมหาทางออก พยุงการจ้างงาน ประคองธุรกิจกันต่อไปอย่างไร? ภายใต้สงครามเชื้อโรคที่ยังคุกคามหนัก!!

ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกเดือน ก.ค. น่าเป็นห่วงอย่างมาก!!!  จากการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตารุนแรงกว่าระลอกแรก นอกจากนี้มาตรการ “ล็อกดาวน์” และ เคอร์ฟิว” ในเดือน ส.ค. ที่ปัจจุบันได้ขยายพื้นที่ควบคุมเข้มสูงสุดเป็น 29 จังหวัด ส่งผลให้ภาคค้าปลีกต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวสู่ระดับปกติ คาดว่าน่าจะเป็นช่วงกลางปี 2566 เลยทีเดียว

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก หรือ Retail Sentiment Index (RSI) อยู่ที่ระดับ 16.4 ลดต่ำสุดในรอบ 16 เดือน ความเชื่อมั่นติดลบ 70% 

การลดลงของยอดขายสาขาเดิม หรือ  Same Store Sale Growth (SSSG) ใน เดือน ก.ค. นั้น  เกิดจากทั้งการใช้จ่ายต่อบิล  Spending per Bill หรือต่อครั้ง Per Basket Size และ ความถี่ในการจับจ่าย (Frequency on Shopping) ลดลงพร้อมกัน!!  ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก สะท้อนถึงการฟื้นตัวต้องใช้เวลา 

คาดว่าภาคการค้าปลีกและบริการครึ่งปีหลังจะทรุดหนัก การเติบโตโดยรวมปีนี้มีแนวโน้มจะติดลบทั้งปี”

1628216358100

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก RSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ยืนอยู่ที่ระดับ 27.6 ต่ำกว่าดัชนีเดือน เม.ย.2563 ที่ระดับ 32.1 สะท้อนถึงความวิตกกังวลในความไม่ชัดเจนต่อแนวทางการกระจายการฉีดวัคซีนของภาครัฐที่ยังมีความล่าช้า ขณะที่ มาตรการเยียวยาก็ไม่เข้มข้นมากพอ รวมทั้งการกระตุ้นกำลังซื้อที่ภาครัฐประกาศจะอัดฉีดเพิ่มเติมนั้นกลับไม่ตรงตามเป้าหมาย

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตามภูมิภาค ปรากฎว่า ลดลงต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 อย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาค เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด โดยเฉพาะภาคกลาง ลดลงอย่างชัดเจนกว่าภาคอื่นๆ จาก “คลัสเตอร์การแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ใช้แรงงานในโรงงานเป็นจำนวนมาก” ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นใน 3 เดือน ข้างหน้า ลดลงในทุกภูมิภาคอย่างชัดเจน และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 ค่อนข้างมาก 

สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการประเมินว่า วิกฤติการแพร่ระบาด! ยืดเยื้อไม่จบง่ายๆ ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแอ เปราะบางอย่างมาก การฟื้นตัวต้องใช้เวลานาน

หากพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตามประเภทร้านค้าปลีก  พบว่า ดัชนีปรับลดลงมากอย่างชัดเจน และต่ำลงในทุกเซ็กเมนต์โดยเฉพาะ ห้างสรรพสินค้า” และ “ร้านอาหาร” ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงและหนักสุด! จากมาตรการการ “ล็อกดาวน์”  สะเทือนยอดขายหายไปกว่า 80-90% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 

ส่วน "ร้านสะดวกซื้อ" หรือ คอนวีเนียนสโตร์” ที่เคยเปิดบริการ 24 ชั่วโมง ได้รับผลกระทบจากมาตรการกำหนดให้ปิดบริการตั้งแต่ 21.00-04.00 น. ยอดขายหดตัว 20-25% จากรายได้ในรอบดึกที่เป็นส่วนหนึ่งของ Peak Hour หายไป! และจำนวนสาขาของร้านค้าสะดวกซื้อกว่า 40% ตั้งอยู่ในเขตสีแดงเข้มที่เป็นเขตควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด

สำหรับ มุมมองของผู้ประกอบการ ประเมินผลกระทบต่อยอดขายและกำลังซื้อ รวมถึงการจ้างงานต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิดระลอกใหม่ ในเดือน ก.ค. เทียบเดือนก่อนหน้า ผู้ประกอบการกว่า 90% เห็นว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคมีสัญญาณปรับตัวแย่กว่าเดือน มิ.ย. ค่อนข้างมาก เพราะกังวลต่อความไม่แน่นอนของแผนการฉีดและกระจายวัคซีนของภาครัฐ  "63%" ประเมินว่า ยอดการจับจ่ายและการใช้บริการ (Traffic) ลดลงมากกว่า 25%  และไม่มีพฤติกรรมในการกักตุน (Stock Up) เพราะกำลังซื้ออ่อนตัวลงอย่างมาก! 

ผู้ประกอบการ “61%”  ยอมรับว่าการจับจ่ายและใช้บริการ  ลดลงมากกว่า 25% เป็นผลจากมาตรการเคอร์ฟิว กว่า “41%”  มีการปรับลดการจ้างงาน หรือ ลดชั่วโมงการทำงาน เพราะธุรกิจมียอดขายและค่าธรรมเนียมการขายลดลง  "53%"  มีสภาพคล่องทางการเงินไม่ถึง 6 เดือน สะท้อนภาวะธุรกิจที่ฝืดเคือง และการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำยังคงเป็นปัญหาที่ต้องการได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน "42%"  คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3 นี้ จะหดตัว 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 

โดย ผู้ประกอบการ 90% ประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเข้าสู่ระดับปกติได้ในช่วงกลางปี 2566 หรืออาจจะนานกว่านั้น!!

162821637920

อย่างไรก็ดี "เมื่อรัฐประกาศมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว จำเป็นต้องมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือลูกจ้างควบคู่กันไปด้วย เพื่อไม่ให้ลูกจ้างถูกเลิกจ้างงานหรือพักงาน โดยเฉพาะกลุ่มห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร"

สมาคมฯ เสนอ  4 มาตรการเร่งด่วนต่อภาครัฐ 1.ต้องมีมาตรการเยียวยานายจ้างช่วยจ่ายค่าเช่า และค่าแรงพนักงาน 50%  เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน  2.ภาครัฐต้องช่วยผู้ประกอบการด้วยการลดค่าสาธารณูปโภค 50% เป็นเวลา 6 เดือน 3.ภาครัฐต้องเร่งสถาบันการเงินอนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ให้ผู้ประกอบการที่ยื่นขอเงินกู้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วภายใน 30 วัน  ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติเงินกู้เพียง 10% ของจำนวนที่ยื่นขอสินเชื่อไปแล้วกว่า 30,000 ราย หากการอนุมัติยังล่าช้าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องเลิกกิจการกว่าแสนรายอย่างแน่นอน 4.ขอให้พักชำระหนี้และหยุดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือนสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้ปัจจุบันกับสถาบันการเงิน 

รัฐต้องพิจารณาและให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพราะภาคค้าปลีกและบริการกำลังทรุดหนัก แนวโน้มปิดกิจการกว่าแสนราย! สิ่งที่ตามมาคือการเลิกจ้างกว่าล้านคน ดังนั้น รัฐบาลต้องเรียกความเชื่อมั่นให้กลับมาโดยเร็วที่สุด!!