ล้วงลึก ‘FreeYouth’ เมื่อ ‘ซ้ายใหม่’ ไร้ยุทธศาสตร์

ล้วงลึก ‘FreeYouth’ เมื่อ ‘ซ้ายใหม่’ ไร้ยุทธศาสตร์

แกะรอย "FreeYouth" หรือ "เยาวชนปลดแอก" ที่กำลังกลายเป็นกระแสวิพากษ์กับการจัดการชุมนุมครั้งล่าสุด ที่เต็มไปด้วยคำถาม และความสงสัย หรือนี่จะเป็นก้าวที่พลาดของ "ซ้ายใหม่" ที่ไร้ยุทธศาสตร์

แม้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการอิสระที่ลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศส ยังอดที่จะเขียนถึง “ม็อบ 7 สิงหา” ที่จัดโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก-FreeYouth หรือกลุ่ม Redem ไม่ได้ 

“ไม่ว่าเราจะประเมินอย่างไร (และมีความเป็นไปได้ ที่จะประเมินจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง ตามแต่รสนิยม) การชุมนุมแบบ Redem นี้ ยากจะปฏิเสธว่า คงไม่อาจนำมาซึ่งชัยชนะได้ จะว่าไปแล้ว การชุมนุมแบบที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า (ถ้าไม่เลิกเสียก่อน) ก็ไม่อาจจะประสบความสำเร็จเช่นกัน การชุมนุมนั้น จำเป็นและมีประโยชน์ แต่ไม่อาจเป็นคำตอบเพียงนี้ได้”

“สมศักดิ์” ไม่ใช่นักวิชาการขาเชียร์ ที่ตะบี้ตะบันหนุนเด็ก โดยไม่แยกถูกแยกผิด เขาสนับสนุนสันติวิธี และไม่นิยมความรุนแรง

การเคลื่อนไหวมวลชนบนท้องถนนแบบ “ไร้แกนนำ” ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก-Free Youth ในนามกลุ่ม Redem

ตั้งแต่ต้นปี 2564 กลุ่ม Redem ได้เคลื่อนไหวครั้งสำคัญ “ม็อบ 20 มีนา” ที่สนามหลวง , “ม็อบ 28 กุมภา” ที่หน้า ร.1 รอ.ทม. วิภาวดี และ “ม็อบ 2 พฤษภา” ที่หน้าศาลอาญา รัชดา ทั้ง 3 เหตุการณ์มีการปะทะกับตำรวจ เหมือนกรณี “ม็อบ 7 สิงหา"

เหตุใดกลุ่มเยาวชนปลดแอก-Free Youth หรือกลุ่ม Redem จึงเคลื่อนไหวมวลชนลักษณะสุ่มเสี่ยง และถูกมองว่า เป็นพวกนิยมความรุนแรง

162843064479

ประการแรก  กลุ่ม Redem เกิดมาจากกลุ่มเยาวชนปลดแอก ซึ่ง REDEM ย่อมาจาก RESTART DEMOCRACY สร้างประชาธิปไตยให้เกิดใหม่อีกครั้งไปด้วยกัน โดยมีชุดความคิดสังคมนิยมเป็นธงนำ

“Redem เป็นการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตยที่คนเท่ากัน”

พวกเขาใช้สัญลักษณ์ RT ออกแบบคล้ายรูปค้อนเคียว และมีธงแดง Redem เป็นสัญลักษณ์ประจำม็อบ ดังนั้น ธงสีแดงของกลุ่ม Redem จึงพุ่งทะลุเพดาน การบุกวังในวันที่ 7 ส.ค.2564 พวกเขาแถลงชัดในเพจเยาวชนปลดแอก

“เราไม่อาจรอช้า คำนวณฤกษ์ยามท่ามกลางวิกฤตเช่นนี้ได้ การปฏิวัติโดยประชาชนหลายที่ทั่วโลก เช่น ฝรั่งเศส รัสเซีย ก็ไม่ต้องรอแม่หมอพ่อพระมาวางศิลาอันใด ขอแค่มีความกล้าหาญและศรัทธาในพลังประชาชนด้วยกันก็พอ”

สรุปว่า การปฏิวัติฝรั่งเศส ,การปฏิวัติรัสเซีย และ “วันเสียงปืนแตก” เป็นโมเดลการลุกขึ้นสู้ของประชาชนผู้ไม่ยอมให้ถูกกดขี่ข่มเหง

ประการที่สอง กลุ่ม Redem เชื่อเรื่องประชาธิปไตยทางตรง ให้มวลชนร่วมกันเป็นเจ้าของม็อบ กลุ่มเยาวชนปลดแอก ได้ข้อสรุป 3 ข้อคือ การต่อสู้ที่ไม่เน้นตัวบุคคล มวลชนเป็นเจ้าของร่วมกัน ภายใต้เงื่อนไขของการไม่มีแกนนำ แต่มีการจัดการจากทีมงานที่อยู่หน้างาน รวมถึงการประสานการเคลื่อนไหวกับผู้ชุมนุมผ่าน Telegram และ Facebook

พวกเขาอ้างว่า จำเป็นต้องแสวงหาวิธีใหม่ๆ ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะเผด็จการ แต่รูปธรรมของการเคลื่อนไหวแบบไร้แกนนำ จบด้วยการปะทะกับตำรวจ มวลชนบาดเจ็บ และถูกจับกุม ไม่ได้มรรคได้ผลอะไร จนพวกเดียวกัน เริ่มทนไม่ไหวต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์ บทบาทของ Free Youth หรือ Redem ไม่ต่างจาก Red Guards หรือยุวชนแดง สมัยการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนแผ่นดินใหญ่

ล้วงลึก ‘FreeYouth’ เมื่อ ‘ซ้ายใหม่’ ไร้ยุทธศาสตร์

กลุ่มเยาวชนปลดแอก-FreeYouth ก่อตั้งโดย “ฟอร์ด” ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และพัฒนามาเป็นกลุ่ม REDEM องค์กรเอกเทศ ไม่ได้อยู่ใต้ร่มกลุ่มราษฎร, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มทะลุฟ้า และกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย

วันนี้ “ฟอร์ด ทัตเทพ” หายตัวไป แต่ก็มีเพื่อนรักทำงานเป็นแอดมินเพจเยาวชนปลดแอก-FreeYouth และคอยประสานงานกับกลุ่มต่างๆ ตัวละครเปิดของกลุ่มเยาวชนปลดแอกคือ “อั๋ว” จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ นักศึกษาธรรมศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้งคณะประชาชนปลดแอก

ก่อนถึงวันดีเดย์ 7 สิงหา ฝ่ายประชาธิปไตยเริ่มวิจารณ์ยุทธวิธี “บุกวัง” ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ทำนองว่าสุ่มเสี่ยง ล่อเป้า และถึงขั้นตั้งข้อหา “ขายม็อบให้ตำรวจ”

“อั๋ว” จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ จึงออกมาชี้แจงว่า “ไม่เคยขายม็อบให้ตำรวจ หากมีหลักฐานการขายม็อบให้ตำรวจโปรดนำมาชี้แจงด้วย ที่โดนสลายการชุมนุมในหลายๆ ครั้ง เป็นเพราะมาตรการของรัฐที่ใช้ปราบปรามการชุมนุม”

162843068854

เมื่อวันถึงวันจริง “ม็อบ 7 สิงหา” แกนนำเยาวชนปลดแอกเจอกลยุทธ์กดดันเร็วของตำรวจ ไม่ทันที่ม็อบจะตั้งลำ รถเครื่องขยายเสียงเข้าพื้นที่ไม่ได้ จึงออกประกาศ “แกงหม้อใหญ่” ย้ายไปทำเนียบรัฐบาล แต่เจอสกัดอีกรอบ เลยเปลี่ยนแผนไปบ้านนายกรัฐมนตรี คำว่า “แกงตำรวจ” เลยถูกล้อว่า “แกงกันเอง” หรือ “แกงผู้ชุมนุม” ทำให้เคลื่อนขบวนมีข้อจำกัด ประกอบกับตำรวจวางแผน “ดักทาง” ม็อบ 7 สิงหา ไว้ทุกจุด และจบที่การปะทะกับตำรวจเหมือนทุกครั้ง

“พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์” นักวิชาการอิสระ เคยวิจารณ์ม็อบไร้แกนนำ หลัง “ม็อบ 28 กุมภา” ตอนบุกบ้านนายกฯประยุทธ์ ครั้งแรกว่า “ภูเขาของความโกรธ เกลียด แค้น ท้อแท้ สิ้นหวังของเยาวชน นี่เป็นโจทย์ที่ท้าทายผู้จัดชุมนุม”

และตั้งคำถามว่า “เยาวชนวันนี้กำลังเดินไปบนเส้นทางเดียวกับคนเสื้อแดง...พวกเขากำลังเดินไปสู่สถานการณ์เดียวกับการสังหารหมู่คนเสื้อแดงพฤษภา 53 หรือไม่”