"ดอกเบี้ยขาลง" ใครได้-ใครเสีย?
“ประตูดอกเบี้ยขาลง” ดูเหมือนว่ากำลังจะถูกเปิดอีกครั้ง หลังที่ผ่านมาแบงก์ชาติ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% มานานกว่า 1 ปี
เนื่องจากต้องการเก็บกระสุนที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่นัด ไว้ใช้ยามจำเป็นและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการคาดการณ์ว่า เวลานั้นใกล้มาถึงแล้ว หลังการระบาดของโควิด-19 ในไทยยังวิกฤต ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เดินหน้าทำนิวไฮทุกวัน และดูแล้วสถานการณ์ไม่น่าจะคลี่คลายง่ายๆ
เนื่องจากเป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ “เดลตา” ที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและติดต่อกันได้ง่าย จนทำให้จำนวนผู้ป่วยทั่วประเทศล้นทะลัก ขณะที่การฉีดวัคซีนที่หวังจะเป็นเกราะกำบังในการยับยั้งโรคระบาดยังล่าช้า ไม่ทั่วถึง เนื่องจากวัคซีนมีปริมาณจำกัด รวมทั้งยังมีการตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่นำมาใช้
การระบาดของโควิดกลายเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย โดยล่าสุด (4 ส.ค.) คณะกรรมการกนง. ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือเพียง 0.7% เท่านั้น จากประมาณการณ์เดิมเมื่อเดือน ก.ค. ที่ 1.8% โดยในการประชุมครั้งนี้คณะกรรมการเริ่มเสียงแตก หลังมีมติไม่เอกฉันท์ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50%
ถือว่าสัญญาณการลดดอกเบี้ยเริ่มปรากฏขึ้นแล้ว โดยกรรมการเสียงข้างน้อย 2 ท่าน มองว่าถึงเวลาที่ต้องยิงกระสุน ลดดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากโรคระบาด และเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังมีความเสี่ยงสูงในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ยังมีกรรมการอีก 1 ท่านที่ลาประชุม ซึ่งไม่อาจรู้ได้ว่าจะสนับสนุนให้ “คงดอกเบี้ย” หรือ “ลดดอกเบี้ย”
เมื่อผลประชุม กนง. ออกมาอย่างนี้ ทำให้กูรูหลายๆ สำนักฟันธงทันทีว่าจะได้เห็นการลดดอกเบี้ยในปีนี้อย่างแน่นอน โดยบล.โนมูระ พัฒนสิน คาดการณ์ว่า กนง. จะหั่นดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 29 ก.ย. จากเดิมคาดว่าจะคงดอกเบี้ยไปตลอดทั้งปี
เช่นเดียวกับ บล.เอเซีย พลัส มองว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูงมากที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยลง 1 ครั้งในปีนี้ จากการประชุมที่เหลืออยู่ 3 นัด (29 ก.ย., 10 พ.ย. และ 22 พ.ย.) โดยให้น้ำหนักกับการประชุมรอบเดือน ก.ย. และ พ.ย. มากที่สุด เพราะเศรษฐกิจไทยกำลังสาหัส สวนทางกับต่างประเทศอย่างสหรัฐที่ดอกเบี้ยกำลังเป็นขาขึ้น
เมื่อประตูดอกเบี้ยขาลงกำลังจะแย้มเปิดอีกครั้ง ย่อมมีธุรกิจที่ “ได้รับประโยชน์” และ “เสียผลประโยชน์” จากการลดดอกเบี้ย โดยกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากดอกเบี้ยขาลง เช่น กลุ่มเช่าซื้อ ลีสซิ่ง สินเชื่อเพื่อผู้บริโภค เพราะต้นทุนทางการเงินลดลง เวลาไปกู้แบงก์เพื่อนำเงินมาปล่อยสินเชื่อได้ดอกเบี้ยที่ถูกลง
“กลุ่มอสังหาริมทรัพย์” ได้รับประโยชน์ 2 ต่อ จากต้นทุนที่ลดลงเมื่อกู้เงินมาพัฒนาโครงการ ขณะที่ดอกเบี้ยขาลงน่าจะเอื้อต่อการซื้อที่อยู่อาศัยมากกว่าช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของผู้บริโภคเป็นสำคัญ
ส่วนบรรดา “หุ้นปันผลสูง” (High Yield) จะได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากการลดดอกเบี้ย เพราะเมื่อดอกเบี้ยลดลง นักลงทุนต้องแสวงหาตัวเลือกใหม่ๆ ที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงดอกเบี้ยขาลง
บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า การปรับลดดอกเบี้ยจะเป็นบวกต่อกลุ่มเช่าซื้อ (Hirepurchase) โดยบวกต่อฐานกำไรของธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP และ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO เพิ่มขึ้น 5-4% และเป็นบวกต่อ Cost of Fund
โดยแบ่งเป็นสินเชื่อรถบรรทุก บวกต่อบริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ THANI มากสุด 1.42% รองลงมาเป็นบริษัท ไมโครลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MICRO 1.39% ส่วนกลุ่มจำนำทะเบียนบวกต่อบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR มากสุด 0.69% ตามด้วยบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC 0.67%
แน่นอนว่าเมื่อมีคนที่ได้ประโยชน์ ต้องมีคนที่เสียประโยชน์ ซึ่งคงหนี้ไม่พ้นบรรดาธนาคารใหญ่ สืบเนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยที่จะลดลงไปนั่นเอง