'ติ๊กต็อก'แซงหน้าเฟซบุ๊คยอดดาวน์โหลดสูงสุดโลก
'ติ๊กต็อก'แซงหน้าเฟซบุ๊คยอดดาวน์โหลดสูงสุดโลก โดยความนิยมแอพฯติ๊กต็อกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มียอดดาวน์โหลดนำหน้าบริษัทอื่นทั้งในยุโรป อเมริกาใต้ และสหรัฐ
ผลสำรวจการดาวน์โหลดทั่วโลกปี 2563 บ่งชี้ว่า “ติ๊กต็อก”แอพพลิเคชันแชร์วิดีโอในจีนติดอันดับ1 ในฐานะเป็นแอพฯที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุดในฐานะผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจและศึกษาในเรื่องนี้ครั้งแรกในปี 2561
ขณะที่กระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวที่เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆทำให้“เทเลแกรม”แอพฯส่งข้อความสัญชาติรัสเซียที่สามารถลบข้อความที่โพสต์ติดหนึ่งใน10 ในปีเดียวกัน เมื่อการระบาดของโรคโควิด-19 ผลักดันให้มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง
ไบท์แดนซ์ เปิดตัวติ๊กต็อกเวอร์ชันต่างประเทศในปี 2560 และปัจจุบัน ยอดการดาวน์โหลดติ๊กต็อกแซงหน้าเฟซบุ๊ค วอทส์แอพ อินสตาแกรม และเฟซบุ๊ค แมสเซนเจอร์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นของเฟซบุ๊ค แม้แต่ในตลาดสหรัฐ
“ฉันสนุกกับการดูวิดีโอสั้นจากติ๊กต็อกของเหล่าศิลปินที่ไม่สามารถออกไปแสดงคอนเสิร์ตจริงๆได้เพราะการระบาดของโรคโควิด-19”นิน่า ชาวเมืองพอร์ทแลนด์ในสหรัฐวัย 37 ปี กล่าว
อย่างไรก็ตาม บางคนเชื่อว่าข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกนำไปแชร์ผ่านแอพฯติ๊กต็อกไม่ปลอดภัย เช่นในปี 2563 อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกร้องให้ไบท์แดนซ์ ซึ่งเป็นเจ้าของติ๊กต่อกขายกิจการในสหรัฐ พร้อมทั้งเรียกร้องให้แบนแอพฯนี้ แต่กระแสความนิยมแอพฯนี้กลับขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งยังมียอดการดาวน์โหลดนำหน้าบริษัทสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆทั้งในยุโรป อเมริกาใต้ และสหรัฐ
เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ได้เพิกถอนคำสั่งของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ที่พยายามปิดกั้นการดาวน์โหลดแอพฯติ๊กต็อก และ วีแชท ของจีน เนื่องจากความกังวลในประเด็นเรื่องความมั่นคงของชาติ แต่ถึงแม้จะยกเลิกคำสั่งแบนแต่คำสั่งประธานาธิบดีฉบับใหม่ก็ระบุให้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรับหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบแอพฯจากต่างประเทศ ตามหลักเกณฑ์และการวิเคราะห์หลักฐานอย่างเข้มงวด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการเก็บข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ และความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางทหารหรือหน่วยข่าวกรองของจีน โดยกำหนดระยะเวลาในการทบทวนเรื่องนี้ภายใน 4 เดือน
ภายใต้คำสั่งประธานาธิบดี ยังมีการสั่งการให้หน่วยงานด้านข่าวกรองและความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ประเมินความเสี่ยงและภัยคุกคาม ในกรณีที่ข้อมูลของสหรัฐอาจถูกต่างชาติเข้าควบคุม และรายงานต่อกระทรวงพาณิชย์เพื่อประกอบการตรวจสอบแอพฯต่างชาติทั้งหมด
ส่วนไลคี (Likee)ของจีน ที่เป็นคู่แข่งของติ๊กต็อก สร้างวิดีโอสั้นที่หลายบริษัทนำไปใช้เพื่อทำแผนการตลาดสินค้าของตัวเองและติดอันดับที่ 8 ในการจัดอันดับยอดการดาวน์โหลดทั่วโลกครั้งล่าสุด
ช่วงเริ่มต้นปี 2564 วอทส์แอพ ประกาศแชร์ข้อมูลข้อความกับเฟซบุ๊คที่เกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้และบริษัท แม้ว่าวอทส์แอพสัญญาว่าจะปกป้องข้อมูลเกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างเพื่อนและครอบครัว แต่ผู้ใช้บางกลุ่มก็เลือกที่จะหันไปใช้บริการแอพฯอื่น
นี่จึงเป็นจังหวะที่“เทเลแกรม”แอพส่งข้อความที่เบื้องต้นได้รับการพัฒนาในรัสเซียแต่ตอนนี้มีฐานดำเนินงานในเยอรมนี ไต่อันดับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ7 โดยผู้ใช้สามารถใช้งานได้ฟรีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ล่าสุดเมื่อเดือนเม.ย.ปี 2563 เทเลแกรมมีจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกต่อเดือนสูงถึง 400 ล้านคน และมีผู้ใช้รายใหม่วันละกว่า 1.5 ล้านคน
เทเลแกรมมีจุดเด่นหลายอย่างที่ไม่มีในแอพฯ อื่น ๆ เริ่มจากสามารถสร้างกลุ่มแชทขนาดใหญ่ที่รองรับคนจำนวนมหาศาลได้สูงสุดถึง 200,000 คน หรือสามารถสร้างเป็นแชนเนลสำหรับส่งข้อมูลกระจายข่าวสารให้กลุ่มคน โดยการแชททั้งหมดไม่ว่าจะเป็นแบบเดี่ยวหรือแบบกลุ่ม ข้อความจะถูกเข้ารหัสไว้ตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกเจาะเข้ามาอ่านได้
แอพฯเทเลแกรมได้รับความนิยมอย้างมากในกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงและในไทยที่ต้องการปฏิบัติภาระกิจโดยให้รอดพ้นจากการถูกตรวจจับของรัฐบาล
ส่วนดิสคอร์ด(Discord)แอพฯแชททางเกมออนไลน์ ขยับขึ้นมาอยู่อันดับ7 อานิสงส์จากการที่ผู้คนจำเป็นต้องกักตัวเองในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 แอพฯนี้ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ชอบเล่นเกมไว้พูดคุยกันตอนออนไลน์และได้รับทุนก่อตั้งจากโซนี กรุ๊ปและบรรดาบริษัทให้บริการด้านสื่อสังคมออนไลน์
ขณะที่ในจีน แอพฯที่มียอดดาวน์โหลดอันดับ1 คือ โต่วอิน ที่ถือเป็นติ๊กต็อกเวอร์ชั่นจีนของไบท์แดนซ์ อันดับ2 วีแชท แอพส่งข้อความของเทนเซนต์ อันดับ3 คิวคิว แอพแชทของเทนเซนต์ อันดับ 4 วีโชว์ แอพวิดีโอสั้นของเทนเซนต์ อันดับ 5 เรด อินสตาแกรมและอีคอมเมิร์ซเวอร์ชั่นจีน
อันดับ 6 เว่ยโป๋ ทวิตเตอร์เวอร์ชั่นจีน อันดับ7 โต่วอิน โวแคลโน อิดิชันวิดิโอสั้นของไบท์แดนซ์ อันดับ 8 โซโกว พินอิน อินพุท เมททอด ระบบอินพุทข้อมูลด้วยภาษาจีน อันดับ 9 จื่อหู แอพสื่อโซเชียลในรูปแบบถาม-ตอบ และอันดับ10 โซล แอพฯบริการค้นหาเพื่อนสำหรับคนเจน Z
ส่วนในญี่ปุ่น ยอดดาวน์โหลดอันดับ1 เป็นของไลน์ ของญี่ปุ่น อันดับ2 อินสตาแกรมของสหรัฐ อันดับ3 ติ๊กต็อกจากจีน อันดับ 4 ทวิตเตอร์จากสหรัฐ อันดับ 5 พินเทอร์เรสต์จากสหรัฐ อันดับ 6 เฟซบุ๊คจากสหรัฐ อันดับ 7 ทาวน์ไวไฟ บาย จีเอ็มโอ ของญี่ปุ่น อันดับ 8 แพร์สจากสหรัฐ อันดับ9 ดิสคอร์ดจากสหรัฐ และอันดับ10 ยาฮู เมลจากญี่ปุ่น