โควิดไทยยังน่าห่วง อาการหนัก 5,407 ราย 13 จังหวัด เตียงใกล้วิกฤติ
ศบค.รายงานสถานการณ์โควิด พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21,038 ราย อาการหนักกว่า 5,407 ราย สูงวัย โรคเรื้อรัง ตายสูง 85% เตียงภาคอีสานอยู่ระดับสีส้ม ขณะที่ 13 จังหวัด สถานการณ์เตียงสีแดง พร้อมใช้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 20%
วันนี้ (11 ส.ค. 64) ที่ทำเนียบรัฐบาล “นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 ล่าสุด วันที่ 11 ส.ค. 64 ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 21,038 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 816,989 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 207 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 มียอดผู้เสียชีวิตสะสมสูงถึง 6,701 รายแล้ว ผู้เสียชีวิตรวม 6,795 รายแล้ว อาการปอดอักเสบ 5,407 และใส่เครื่องช่วยหายใจอีก 1,094 ราย ส่วนรายงานถึงการตรวจหาเชื้อเข้าข่าย หรือ ATK อีก 2,081 ราย สะสม 24,000 ราย ขณะที่ การใช้ ATK ใน กทม. พบผลบวกราว 8.85%
- 85% สูงวัย โรคเรื้อรัง เสียชีวิต
สำหรับรายละเอียดผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่อยู่กทม. และปริมณฑล เป็นชาย 112 ราย หญิง 95 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 57% และ มีโรคเรื้อรัง 58 ราย 28% รวมทั้งสองกลุ่ม 85% ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 28 ราย 14% ตั้งครรภ์ 2 ราย 1% กทม. และ จ.อ่างทอง โดยยังพบการเสียชีวิตที่บ้านอีก 2 ราย ที่กทม. และ นครศรีธรรมราช
โฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า เป็นสิ่งที่เน้นย้ำมาตรการของ ศบค. และ สธ. ที่เห็นชอบร่วมกัน คือ วัคซีนที่ได้มา นอกจากบุคลากรการแพทย์ด่านหน้า ในส่วนของประชาชนทั่วไป เน้นย้ำกลุ่มเสี่ยง โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ ดังนั้น เป็นกลุ่มเป้าหมาย ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนที่มีคนที่มีผู้สูงอายุ และ 8 กลุ่มโรค กรุณาพามาฉีดวัคซีนโดยด่วน หากฉีดวันนี้กว่าจะเห็นผลออกฤทธิ์ในการป้องกันโรค ต้องใช้เวลาในการสร้างภูมิอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ หากจะลดอัตราการติดเชื้อ ป่วยหนัก เสียชีวิต นี่คือคำตอบที่สำคัญที่ต้องช่วยกัน
- อุบลฯ ยังติด 1 ใน 10
สำหรับ 10 จังหวัดติดเชื้อรายใหม่สูงสุด ยังพบว่า อุบลราชธานี 420 ราย เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นภาพมาเดือนกว่าๆ ของการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับบ้าน ขณะที่ คลัสเตอร์ใหม่ ยังพบ 3 คลัสเตอร์ใหม่ ใน 3 จังหวัด ได้แก่ บริษัท ปิโตรเลียม สมุทรสาคร 19 ราย บริษัทอาหารสำเร็จรูป ราชบุรี 32 ราย และ บริษัทเครื่องดื่ม บ้านสร้าง ปราจีนบุรี 26 ราย
“โรงงานขอให้บับเบิ้ลแอนด์ซีล ลูกจ้างต้องให้คามร่วมมือนายจ้าง หลายแห่งต้องปิดโรงงานถ้าการระบาดสูง แต่หลายแห่ง อาจจะไม่ปิดแต่ต้องบับเบิ้ลแอนด์ซีล เพื่อให้อุตสาหกรรมเดินหน้าได้ เราต้องปรับตัว จะให้ปิดทั้งหมดก็อาจมีผลต่อเศรษฐกิจไทย”
- 13 จังหวัด เตียงวิกฤติสีแดง พร้อมใช้น้อยกว่า 20%
จากเดิมที่กระจุกตัวในกทม. ปริมณฑล ขณะนี้ มีผู้ป่วยกระจายออกไปภาคอีสานส่วนใหญ่ เพราะเป็นแรงงานของภาคการจ้างงานในกทม. ปริมณฑล ทำให้สถานการณ์เตียงภาคอีสานกลายเป็นสีส้ม รวมถึง ภาคกลางจำนวนเตียงลดลง ข้อมูล 5 ส.ค. 64 สถานการณ์เตียงระดับสีแดง 13 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา บึงกาฬ หนองบัวลำภู หนองคาย มหาสารคาม นครสวรรค์ ราชบุรี สมุทรสงคราม นครนายก พิจิตร สมุทรสาคร และภูเก็ต
- นครปฐม อาการหนักมากกว่า 10%
สำหรับจังหวัดที่มีผู้ป่วยอาการหนัก จำนวนทั้งหมด 5,005 ราย มีจังหวัดที่มากกว่า 10% ได้แก่ นครปฐม 364 ราย ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ป่วยอาการหนัก 5-10% จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ นครนายก นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก สมุทรสาคร สุพรรณบุรี หนองคาย อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี
- ไทยเสียชีวิต 89 ต่อล้านประชากร
อัตราการเสียชีวิตต่อแสนประชากร กระจุกตัวในภาคกลาง โดย 3 จังหวัดที่มีการเสียชีวิตมากกว่า 5 ต่อแสนประชากร ได้แก่ กรุงเทพ (6.85) สมุทรสาคร (6.18) ปัตตานี (5.11) ขณะที่ 3 จังหวัดที่มีอัตราเสียชีวิต น้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 ต่อแสนประชากร ได้แก่ นครนายก สมุทรปราการ และ อ่างทอง
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับประชากรโลก (ข้อมูล 8 ส.ค. 64) การเสียชีวิตของไทยต่อล้านประชากร อยู่ที่ 89 ต่อล้านประชากร อันดับที่ 148 โดย อันดับ 1 คือ เปรู 5,881 ต่อล้านประชากร ถัดมา คือ ฮังการี 3,118 ต่อล้านประชากร และ บอสเนีย 2,974 ต่อล้านประชากร ขณะที่ ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 552.3 ต่อล้านประชากร
ส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงยังน้อยกว่าเป้า
ขณะนี้ทั่วประเทศฉีดวัคซีนไปแล้ว 21,717,954 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 สะสม 16,701,428 ราย เข็มที่ 2 สะสม 4,692,030 ราย และ เข็มที่ 3 สะสม 324,496 ราย
โฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า เป้าหมายการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 สูงวัย และ 8 กลุ่มโรค ภายในเดือนนี้และเดือนหน้าต้องมากกว่า 50-60% เป็นเป้าหมายที่ สธ. เสนอ ศบค. และต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน จากข้อมูล 10 ส.ค. 64 กลุ่ม 60 ปีขึ้นไป ที่ได้รับวัคซีน 29 จังหวัด ควบคุมสุงสุดและเข้มงวดเกือบทุกจังหวัดต่ำกว่าเป้าหมาย ยกเว้น กทม. 90% ซึ่งต้องเร่งรัด การฉีดในจังหวัดที่ต่ำกว่า ขณะที่ในจังหวัดอื่นๆ พบการฉีดในกลุ่มดังกล่าวสูง ได้แก่ ภูเก็ต 91% พังงา 62% และ ระนอง 63%
7 กลุ่มโรค 4 จังหวัด ฉีดมากกว่า 50%
ขณะที่ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ที่ได้รับการฉีดวัคซีนมากกว่า 50% มี 4 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ระนอง ปทุมธานี และสมุทรปราการ