การรถไฟฯ ประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ 3 แปลง เปิดยื่นราคา 19 ส.ค.นี้
การรถไฟฯ ดึงพื้นที่เชิงพาณิชย์ 3 สถานีในกรุงเทพฯ ย่านมักกะสัน - คลองตัน และชุมทางตลิ่งชัน เปิดเอกชนร่วมประมูลชิงพื้นที่ทำธุรกิจรวมกว่า 4.5 พันตารางเมตร หวังโกยรายได้ระยะสั้น 3 ปี ทยอยเปิดรับซองข้อเสนอ 19 ส.ค.นี้
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้เปิดขายซองเอกสารเสนอราคาเพื่อให้เอกชนเขข้ามาเสนอราคาค่าเช่าที่ดิน เพื่อใช้ประโยชน์ตามศักยภาพของพื้นที่เป็นการชั่วคราว สำหรับที่ดินของ ร.ฟ.ท. 3 แปลง คือ บริเวณใต้ตอม่อทางยกระดับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ที่ระหว่างสถานีมักกะสัน – คลองตัน มี 2 แปลง และบริเวณย่านสถานีชุมทางตลิ่งชัน อีก 1 แปลง รวมพื้นที่กว่า 4.5 พันตารางเมตร
“การรถไฟฯ มีเป้าหมายที่จะหารายได้เชิงพาณิชย์จากการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟ นอกจากแผนการพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่เป็นคอมมูนิตี้มอลล์แล้ว ที่ดินที่มีศักยภาพตามสถานีรถไฟต่างๆ การรถไฟฯ ก็จะนำมาพิจารณาเปิดให้เอกชนร่วมเสนอราคาเช่า ซึ่งส่วนใหญ่จะให้เช่าระยะสั้น 3 ปี เป็นการเช่าชั่วคราวเพื่อรอให้บริษัทลูก บริษัทพัฒนาสินทรัพย์ของการรถไฟฯ เข้ามาบริหารภาพรวมทั้งหมด”
สำหรับการประกาศเชิญชวนเอกชนเสนอราคาเช่าที่ดินทั้ง 3 แปลงนี้ เบื้องต้นได้ขายซองครบแล้ว และจะทยอยเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอซองราคา ส่วนแรกเป็นที่ดินย่านสถานีชุมทางตลิ่งชัน เปิดให้เสนอราคาวันที่ 19 ส.ค.นี้ หลังจากนั้นจะเปิดให้เสนอราคาแปลงสถานีมักกะสัน - คลองตัน ในวันที่ 27 ส.ค.2564 และสถานีมักกะสัน - คลองตัน 2 แปลง ในวันที่ 31 ส.ค.2564
ทั้งนี้ที่ดินของ ร.ฟ.ท.ที่นำมาเปิดประกวดราคาครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 1.บริเวณใต้ตอม่อทางยกระดับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ที่ระหว่างสถานีมักกะสัน – คลองตัน พื้นที่ให้เช่าทั้งสิ้น 1,047.48 ตารางเมตร 2.บริเวณใต้ตอม่อทางยกระดับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ที่ระหว่างสถานีมักกะสัน – คลองตัน 2 แปลง พื้นที่ให้เช้า 2 แปลง รวมทั้งสิ้น 2,829.30 ตารางเมตร และ 3.บริเวณย่านสถานีชุมทางตลิ่งชัน พื้นที่ให้เช่าทั้งสิ้น 636.78 ตารางเมตร
รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า หากการจัดตั้งบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด หรือ บริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกบริหารสินทรัพย์ของ ร.ฟ.ท.แล้วเสร็จ จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง ร.ฟ.ท.และบริษัทลูก เพื่อโอนงานหรือโอนทรัพย์สินที่ดินของ ร.ฟ.ท.ที่มีอยู่ราว 3.8 หมื่นไร่ มอบให้บริษัทลูกนำไปดูแล บริหารและพัฒนาต่อ โดยคาดว่าบริษัทลูกจะหารายได้ผลตอบแทนให้ ร.ฟ.ท.ภายในระยะเวลา 30 ปี กว่า 6.3 แสนล้านบาท
สำหรับแผนโอนสินทรัพย์ของ ร.ฟ.ท.ให้บริษัทลูกบริหารนั้น จะแบ่งระยะในการถ่ายโอนงาน เนื่องจากบริษัทลูกจัดตั้งใหม่หากโอนงานไปทั้งหมดอาจหนักเกินกว่าบุคลากรที่มีอยู่ เบื้องต้น ร.ฟ.ท.ทำแผนถ่ายโอนงาน กำหนดเป็น ระยะที่ 1 โอนงานส่วนที่เป็นสัญญาเช่าในปัจจุบัน จำนวนกว่า 1.5 หมื่นสัญญา ระยะที่ 2 โอนงานที่ดินเปล่ายังไม่มีสัญญาเช่า
โดยรายได้ของบริษัทลูก จะมาจาก 3 ส่วน คือ 1. รายได้จากค่ารับจ้างบริหารสัญญาเช่าเดิมจำนวน 1.5 หมื่นสัญญา โดยสินทรัพย์ทั้งหมดยังคงเป็นของ ร.ฟ.ท. 2. รายได้จากการให้เช่าช่วง ร่วมทุน หรือพัฒนาที่ดินเดิมที่หมดอายุสัญญา และ 3. รายได้จากการร่วมลงทุนกับเอกชน และการพัฒนาพื้นที่ดินเปล่าในอนาคต