ศูนย์การค้าจี้รัฐผ่อนปรน'เปิดธนาคาร-ร้านมือถือ-เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น'

ศูนย์การค้าจี้รัฐผ่อนปรน'เปิดธนาคาร-ร้านมือถือ-เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น'

สมาคมศูนย์การค้าไทย  เสนอให้ภาครัฐทบทวนมาตรการผ่อนปรน "เปิดธุรกิจที่มีความจำเป็น" ต่อการใช้ชีวิตของประชาชน 3 กลุ่มหลัก "ธนาคาร-สื่อสาร ไอที-ร้านเบ็ดเตล็ดและร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น"

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาส่งผลกระทบรุนแรงในทุกมิติ และมากกว่าทุกระลอกที่ผ่านมา จำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์คุมเข้มสูงสุด 29 จังหวัด กิจการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านค้าและบริการต่างๆ หลายกลุ่มธุรกิจ ต้อง “ปิดบริการชั่วคราว” ล่าสุดในนาม "สมาคมศูนย์การค้าไทย" เสนอให้ภาครัฐทบทวนมาตรการผ่อนปรนเปิดธุรกิจที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของประชาชน

นายนพพร วิฑูรชาติ” นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย  หรือ TSCA  และประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดและมีการ “ล็อกดาวน์” กิจการหลายประเภท ขณะที่ประชาชนมีความจำเป็นต้องออกทำธุรกรรมทางการเงิน หรือ ชำระค่าบริการโทรศัพท์มือถือ ซึ่งพบว่าเกิดปัญหาความแออัดในการให้บริการในสาขานอกศูนย์การค้าที่ไม่ได้ปิดบริการ มีลูกค้าต่อคิวใช้บริการธนาคารเป็นจำนวนมาก

สมาคมศูนย์การค้าไทย มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว และมุ่งลดความแออัดในการใช้บริการให้ประชาชน จึงขอเสนอภาครัฐให้มีการทบทวนมาตรการเพื่อผ่อนปรนให้ “3 ธุรกิจหลัก” ที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของประชาชน สามารถเปิดให้บริการได้ในศูนย์การค้า ได้แก่ 1.ธนาคาร สถาบันการเงิน 2.ธุรกิจสื่อสาร ไอที และ 3.ร้านเบ็ดเตล็ดและร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น

ทั้งนี้ เพื่อกระจายช่องทางการใช้บริการและอำนวยความสะดวกให้ประชาชน เพราะศูนย์การค้ามีมาตรการดูแลพื้นที่ของตนเองให้เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนมากที่สุด โดยธนาคาร ธุรกิจไอที และร้านเบ็ดเตล็ดก็มีมาตรการเข้มข้น ผนวกกับศูนย์การค้าก็มีมาตรการที่เข้มข้นสูงสุดอีกระดับ ซึ่งถือเป็นการ Double Protection และปลอดภัยกว่าสำหรับลูกค้า อีกทั้งยังได้มีการทบทวนแผนอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับมาตรการให้แข็งแกร่ง และสอดคล้องกับสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา

"เราต้องการกระจายพื้นที่ให้บริการ เพื่อลดความแออัด ลดระยะเวลาการทำธุรกรรม เชื่อมั่นว่า  ทุกภาคส่วนพร้อมใจร่วมกันหาทางออกให้กับสถานการณ์ขณะนี้อย่างเต็มที่เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน" 

โดยที่ผ่านมา พบว่าสถิติการติดเชื้อของพนักงานในศูนย์การค้านั้นมีอัตราส่วนที่ต่ำมาก เนื่องด้วยมาตรการในการควบคุมที่ชัดเจน พร้อมทั้งมาตรการป้องกันเชิงรุก Intensive Tracking บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพในการแยกกลุ่มเสี่ยง-กักตัว 14 วันดูอาการ เปลี่ยนพนักงานชุดใหม่ เพื่อควบคุมความเสี่ยงตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

ภายใต้ แผนแม่บท "มาตรการธนาคาร และธุรกิจสื่อสาร สะอาด มั่นใจ" เข้มข้นยกระดับขั้นสูงสุดให้เป็นบรรทัดฐานที่ดีในการดูแลความสะอาดปลอดภัยในการให้บริการ สร้างความมั่นใจ ลดความแออัดที่เกิดขึ้น และช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มีความจำเป็นต้องออกมาทำธุรกรรมทางการเงิน หรือ ชำระค่าบริการโทรศัพท์มือถือ เพื่อกระจายพื้นที่ให้บริการ ลดความแออัดในการทำธุรกรรมลง 

162873808729

กางแผนแม่บท26ข้อปฎิบัติ

สำหรับ “แผนแม่บทมาตรการ ธนาคารและธุรกิจสื่อสาร สะอาด มั่นใจ” 26 ข้อปฏิบัติ ที่มีความเข้มข้นเป็นพิเศษ เป็นกรอบปฎิบัติการหากรัฐผ่อนปรนให้เปิดบริการได้ ดังต่อไปนี้ 

1.พนักงานทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว (Sinovac 2 เข็ม, Astrazeneca หรือวัคซีนอื่นๆ อย่างน้อย 1 เข็ม) 

2.ก่อนเข้าทำงาน พนักงานทุกคนต้องตรวจหาเชื้อโดย Antigen Test Kit และมีผลเป็นลบ โดยผลตรวจต้องไม่เกิน 3 วัน หลังจากนั้นจะต้องตรวจหาเชื้อโดยวิธี Antigen Test Kit เป็นประจำทุก 2 สัปดาห์ 

3.บันทึก และประเมินประวัติของพนักงานทุกคน ทุกวัน 

4.เข้มงวด ห้ามพนักงานจับกลุ่ม หรือนั่งทานอาหารร่วมกัน 

5.พนักงานทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น หรือ หน้ากากอนามัยและ Face shield ตลอดการให้บริการ 

6.ส่งเสริมให้ลูกค้าลงทะเบียนจองคิวล่วงหน้าผ่านช่องทางออนไลน์ 

7.จำกัดจำนวนคน 1 คนต่อ 5 ตร.ม. และลดความแออัด 100% Social Distancing 

8.จัดให้มีเจ้าหน้าที่นับและควบคุมจำนวนลูกค้าหรืออุปกรณ์ในการนับจำนวนลูกค้าให้เป็นไปตามกำหนด 

9.ส่งเสริมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ e-Banking 

10.บริการถุงมือพลาสติกสำหรับลูกค้าที่มาใช้บริการ 

11.ธนาคารงดให้บริการแลกเหรียญ และธนบัตรย่อย เพื่อลดการสัมผัส 

12.มีพนักงานจัดระบบคิวหน้าร้าน 

13.กำหนดจุดรอคิวในบริเวณที่กำหนด หากบริเวณหน้าร้านไม่มีพื้นที่ ให้ทางร้านแจกบัตรคิวพร้อมขอเบอร์โทรลูกค้า แล้วให้ลูกค้าไปนั่งรอที่ Rest Area ที่ทางศูนย์ฯ จัดไว้ 

14.กำหนดการจัดคิว และมีสัญลักษณ์เว้นระยะอยู่ข้างหน้าตู้ ATM หรือ e-Booth ห่าง 1-2 เมตร

15.ตรวจวัดอุณหภูมิลูกค้าทุกคนอย่างเคร่งครัดทุกครั้งก่อนเข้าพื้นที่ 

16.ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอลล์ทั้งก่อน-หลังเข้ารับบริการ 

17.ธนาคารจัดเจลแอลกอฮอลล์บริเวณเคาน์เตอร์ให้บริการ 2 ช่อง ต่อ 1 ขวด 

18.กำหนดเส้นทางเดินของลูกค้าในร้านค้า

19.ร้านค้า จำกัดการรับลูกค้าและผู้ติดตามรวมแล้วไม่เกิน 2 คนต่อกลุ่ม 

20.จัดระเบียบการเข้าคิวแคชเชียร์และจุดบริการต่างๆ กำหนด ระยะห่าง 1-2 เมตร 

21.ส่งเสริมการชำระเงินแบบ Cashless Payment 

22.อุปกรณ์ Demo ต้องเช็ดน้ำยาฆ่าเชื้อหลังจากลูกค้าสัมผัสทันที 

23.ทำความสะอาดบริเวณจุดที่มีการสัมผัสร่วมสูง ทุกๆ 30 นาที 

24.ทำความสะอาดและพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อพื้นที่ร้านค้าอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องทุกวันหลังปิดให้บริการ 

25.ทำความสะอาดบิ๊กคลินนิ่ง อบโอโซนฆ่าเชื้อ ทันทีหากพบว่ามีผู้ติดเชื้อมาใช้บริการ และพนักงานที่มีความเสี่ยงสูง ต้องกักตัว 14 วันเพื่อดูอาการ และเปลี่ยนพนักงานชุดใหม่ทั้งหมด 

26.มี Counter Shield ในจุดให้บริการลูกค้า

 

ค้าปลีกสูญ 2.7 แสนล้าน

อย่างไรก็ดี "นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์" รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ค้าปลีกขณะนี้อยู่ในภาวะ วิกฤติหนัก” เป็นผลจากพิษโควิดที่ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2563 และขณะนี้กำลังเผชิญการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่กระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิต นำสู่ "มาตรการล็อคดาวน์" และ เคอร์ฟิว” อีกครั้ง  

โดยดัชนีความเชื่อมั่นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ดิ่งลงสู่จุดต่ำสุด ในรอบ 16 เดือน ติดลบสูงถึง 70% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 270,000 ล้านบาท ประเมินแนวโน้มกิจการกว่า 100,000 ร้านค้า เตรียมปิดกิจการ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจ้างงาน มากกว่าล้านคน”

 สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ขอให้ภาครัฐติดสปีดมาตรการเยียวยาอย่างเข้มข้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ พยุงการจ้างงาน รวมทั้งเร่งสถาบันการเงินอนุมัติสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจ และกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศเพื่อบรรเทาวิกฤติประเทศและอุตสาหกรรมค้าปลีกมูลค่า “4 ล้านล้านบาท” ที่เผชิญ วิกฤติซ้อนวิกฤติ” ในขณะนี้ คาดว่าต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวสู่ระดับปกติซึ่งน่าจะเป็นช่วงกลางปี 2566 ทีเดียว