'กรมการแพทย์' แจง ทำไม? บุคลากรส่วนกลางได้ฉีดวัคซีน'ไฟเซอร์'
'กรมการแพทย์' ชี้แจงกรณีที่มีการแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีการฉีดวัคซีน 'ไฟเซอร์' ให้แก่บุคลากรส่วนกลางที่ปฏิบัติงานส่วนงานสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์
กรมการแพทย์ ขอชี้แจงกรณีที่มีการแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีการ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ 'ไฟเซอร์' ให้แก่ บุคลากรส่วนกลาง ที่ปฏิบัติงานส่วนงานสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์นั้น
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังมีความรุนแรง ปัจจุบันพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ขาดแคลนบุคลากรในโรงพยาบาลประกอบกับบุคลกรในโรงพยาบาลบางส่วนมีการติดเชื้อและบางส่วนทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้ต้องหมุนเวียนบุคลากรจากส่วนกลางไปทำงาน
- 'บุคลากรส่วนกลาง'ต้องฉีดวัคซีน 'ไฟเซอร์'เหตุช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์
เพื่อลดความเหนื่อยล้าของบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานต่อเนื่องมาหลายเดือน จึงมีความจำเป็นต้องให้บุคลากรส่วนกลาง บางส่วนไปปฏิบัติงานช่วยเหลือ บุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองผู้ป่วย การอำนวยความสะดวกงานในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ผู้ป่วยโควิด-19 การประสานงานการรับและส่งต่อ ผู้ป่วยโควิด-19 และงานด้านอื่น ๆ ที่จำเป็น
โดยสถานที่ปฏิบัติงานมีจำนวนมาก อาทิ ศูนย์แรกรับและส่งต่อ อาคารนิมิบุตร ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ Hospitel หรือ โรงพยาบาลของกรมบางแห่ง เป็นต้น ดังนั้น บุคลากรส่วนกลาง ที่ปฏิบัติงานสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ตามสถานที่ต่าง ๆ ดังกล่าว ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด 19 จากการปฏิบัติงาน โดย บุคลากรส่วนกลาง ทั้งหมดมีจำนวน 430 คน แต่มีเพียงบุคลากรที่ไปช่วยงานในสถานีที่เสี่ยงดังกล่าว 112 คน เท่านั้น ที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนของ ไฟเซอร์ เช่นเดียวกับบุคลากรด่านหน้าตามหลักเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขทุกประการ
- ยันฉีดวัคซีน'ไฟเซอร์' เป็นไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ตามสธ.กำหนด
ขอยืนยันว่าการฉีดวัคซีนเป็นไปเงื่อนไขความจำเป็นและหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครอบคลุม บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขที่เป็นผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและการควบคุมป้องกันโรค ซึ่งมีโอกาสและมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อจากการปฏิบัติงานทั้งสิ้น
ดังนั้น หากผู้ปฏิบัติงานได้รับวัคซีนแล้วจะสามารถป้องกันการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตจากโรคโควิด -19 และสามารถเป็นกำลังสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยต่อไป